โรคตุ่มน้ำพอง ไม่ใช้โรคติดต่อ รักษาได้

โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) หรือโรคตุ่มน้ำพองใสไม่ใช่โรคติดต่อ เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทานในร่างกาย สามารถสัมผัสและใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสหายได้


โรคตุ่มน้ำพอง ผลร้ายต่อสุขภาพเมื่อภูมิคุ้มกันทำงานเพี้ยนไป
โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่พบได้ทั้งชายและหญิง มักเกิดขึ้นในคนที่มีอายุมาก มีลักษณะเป็นตุ่มใสพองน้ำ สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพองเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดตุ่มน้ำและแผลถลอกทั่วร่างกาย ซึ่งโรคนี้เป็นผลกระทบของระบบภูมิคุ้มกันเกิดการบกพร่อง โครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนังเข้าไว้ด้วยกันเกิดการแยกตัวและหลุดออกจากกันได้โดยง่าย ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรมและไม่ใช่โรคติดต่อ


 

อาการเริ่มต้นของโรคตุ่มน้ำพอง
* มีผื่นแดงคันเป็นลำดับแรก
* มีตุ่มน้ำพองใสขึ้นตามส่วนต่าง ๆ บริเวณผิวหนังของร่างกาย อาทิเช่น ศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง เป็นต้น
* บริเวณที่มีตุ่มพองใสขึ้นจะมีอาการปวด แสบ และคันในบริเวณแผล
* ตุ่มน้ำพองใสที่เกิดขึ้นจะแตกได้ยาก และเมื่อแตกแล้วอาจเกิดเป็นแผลถลอกได้
* เมื่อแผลแห้งสนิทอาจทิ้งร่องรอยในบริเวณนั้น แต่ไม่ทำให้เป็นแผลเป็น


เรื่องที่ควรระวังเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง
ตุ่มน้ำพองจะเกิดขึ้นได้ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากการเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณช่องปาก ทางเดินอาหาร หรือแม้แต่เยื่อบุช่องคลอดในผู้หญิง เมื่อเกิดขึ้นบริเวณที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร อาจส่งผลทำให้กลืนอาหารลำบากขึ้น หากเกิดการติดเชื้อจะทำให้แผลตุ่มใสกลายเป็นหนอง และมีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นได้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยมีไข้สูง หรือเริ่มมีปัญหาในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ ป้องกันความรุนแรงของการติดเชื้อในกระแสเลือด


ปฏิบัติตัวอย่างไร ? เมื่อเกิดตุ่มน้ำพอง
1.ใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดของร่างกาย เมื่อเกิดแผลบริเวณร่างกายควรใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแผลและบริเวณโดยรอบ
2.ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาด ในส่วนของลิ้นและฟัน ควรใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟันเบา ๆ
3.ไม่แกะแผลหรือเกาแผล ไม่ควรแกะแผล เกาแผล หรือการเอามือไปสัมผัสบริเวณที่เป็นแผลบ่อยครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
4.ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นโรคให้เกิดขึ้น เมื่อต้องการออกกำลังกาย ควรออกเบาๆ ขยับแขนขาแต่พอเหมาะ
5.ไม่ควรใส่เสื้อผ้าพอดีร่างกาย การใส่เสื้อผ้าพอดีกับร่างกายจนเกินไปถึงขนาดรัดแน่น หรือคับ อาจทำให้การระคายเคืองของผิวหนังได้
6.หลีกเลี่ยงแสงแดด แสงแดดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ความร้อนจากอากาศทำให้แผลที่เป็นอยู่แล้วอับชื้นและแสบจากเหงื่อบนร่างกายได้
7.ควรรับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น อาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน ควรเป็นอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารทานดิบทุกชนิด ไม่ควรรับประทานอาหารที่แข็งจนเกินไป รวมถึงควรงดอาหารรสจัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลในช่องปาก
8.หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การอยู่ในสถานที่แออัดหรือใกล้ชิดผู้ป่วยจนเกินไป เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรระวังเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

แนวทางการรักษา
โรคตุ่มน้ำพองเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติไป ยาที่ใช้รักษาจึงเป็นการรับยากดภูมิคุ้มกันร่วมกับยาแก้อักเสบเพื่อให้โรคสงบ หรือยาที่เปลี่ยนการทำงานของเซลล์ จุดประสงค์หลักในการรักษาคือการลดการเกิดตุ่มใหม่และเร่งการสมานแผลให้เร็วที่สุด ซึ่งยาที่ใช้รักษาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลร่วมกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ทั้งนี้การรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่นการทำ Plasmapheresis การกรองพลาสมาที่ไม่ดีทิ้ง และคืนพลาสมาที่ดีสู่ร่างกาย เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้ดีขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต