โรคไข้เลือดออกเกิดจาก ไวรัสเดงกี (Dengue Virus)

โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 2-7 วัน หลังไข้ลดลงอาจมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ หรือมีอาการช็อคได้ ซึ่งเป็นช่วงอันตรายเนื่องจากคนไข้มักคิดว่าหลังไข้ลงจะปลอดภัยแล้ว การสังเกตอาการผิดปกติหลังไข้ลด 2-3 วัน แล้วรีบมาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา เป็นสิ่งสำคัญ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single – strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้
การติดต่อ
โรคไข้เลือดออกติดต่อโดยอาศัยพาหะคือยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นตัวพาหะนำโรค
ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยในระยะไข้ซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในกระเพาะของยุง จากนั้นเชื้อโรคจะเดินทางไปที่ต่อมน้ำลายของยุง พร้อมที่จะถ่ายทอดไปสู่คนที่มันกัดต่อไป
นอกจากนั้น ยุงตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ เมื่อวางไข่ ยุงที่ออกมาจากไข่ใบนั้น ๆ จะมีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่เช่นกัน พร้อมที่จะแพร่เชื้อสู่คนทันทีโดยไม่ต้องกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกมาก่อน
ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน มักจะกัดในช่วงใกล้รุ่งหรือใกล้ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คน เด็กๆอยู่นอกบ้าน
ไข่ของยุงลายมีลักษณะพิเศษ คือสามารถอยู่ในภาวะแห้งได้เป็นเดือน และจะฝักออกจากไข่ในน้ำใสสะอาดเท่านั้น ดังนั้นน้ำฝนหรือนำสะอาดที่ขังตามภาชนะต่างๆ จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ดี
โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกจะพบมากในฤดูฝนเนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน แต่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ อาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี

อาการ
ระยะไข้ (2-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา
ระยะช็อคระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อคทุกราย ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ เข้าสู่ระยะฟื้นตัว
ระยะฟื้นตัวอาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว


การรักษา
เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามให้ยาแอสไพริน ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้ ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆกับช่วงที่ไข้ลดลง ผู้ปกครองและคนไข้ควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ข้อแนะนำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ดังนี้
* เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์สั่ง ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ทุก 4-6 ชั่วโมงถ้ามีไข้เกิน 3 วัน ควรมาพบแพทย์
* ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้
* ดื่มน้ำมากๆ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่า
* หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
* หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือดำ เพราะอาจทำให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้
* ให้มาพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
* อาเจียนมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้เพียงพอ
* ปวดท้องมาก
* มีเลือดออกรุนแรง เช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด
* กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น
* ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
* ซึมลงไม่ค่อยรู้สึกตัว หอบเหนื่อย


ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต