ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยวัณโรคกว่า 10 ล้านคน และคาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกมีติดเชื้อ “วัณโรคแฝง” โดยไม่รู้ตัว และที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือประเทศไทยของเราจัดอยู่ใน 1 ใน 14 ประเทศที่มีวัณโรครุนแรง การติดเชื้อวัณโรคแฝงจึงเป็นสิ่งเราทุกคนต้องระวัง!
วัณโรคแฝง คืออะไร?
วัณโรคแฝง ก็คือการที่เราได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่เชื้อนั้นซ่อนอยู่ภายในร่างกาย เหมือนระเบิดเวลารอแสดงอาการในช่วงเวลาที่ร่างกายจะอ่อนแอ ซึ่งธรรมชาติของวัณโรคจะมีระยะเวลาในการฝักตัวค่อนข้างนาน อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือในบางรายก็เป็นปีจึงจะแสดงอาการ ซึ่งการได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการนี่แหล่ะ คือการเป็นวัณโรคระยะแฝง (Latent TB)
วัณโรคแฝง แม้จะไม่แสดงอาการ แต่ก็ร้ายไม่ใช่เล่น!
แม้ว่าวัณโรคแฝงจะไม่แสดงอาการ และยังไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ แต่ก็มีการศึกษาทางด้านงานระบาดวิทยาในอเมริกาหลายชิ้นที่พบว่าผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงขณะที่มีภูมิคุ้มกันปกติ 5-10% จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคภายใน 2-5 ปีหลังจากการติดเชื้อวัณโรคครั้งแรก ไม่นับรวมในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะยิ่งมีโอกาสพัฒนาจากวัณโรคแฝงไปเป็นวัณโรคสูงขึ้น 21 เท่าเลยทีเดียว
จะรู้ได้ว่าอย่างว่าวัณโรคแฝงอยู่ในร่างกายหรือเปล่า?
การตรวจเชื้อวัณโรคแฝงสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
1. การทดสอบทางผิวหนังด้วยทุเบอร์คุลิน (Tuberculin skin test) ซึ่งจะเป็นการฉีดโปรตีนสกัดจากเชื้อวัณโรค ที่เรียกว่า PPD (Purified protein derivative) ปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร
เข้าในชั้นผิวหนังบริเวณท้องแขน หลังจากนั้น 48 ถึง 72 ชั่วโมง ก็จะทำการวัดขนาดรอยนูนบริเวณที่ฉีดยาเข้าชั้นผิวหนัง
2. การทดสอบ Interferon-gamma release assays (IGRAs) ซึ่งเป็นการตรวจเลือด โดยการหาค่า Interferon-gamma (IFN-γ) ซึ่งจะแสดงขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อวัณโรคขึ้นในร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดการเกิด “ผลบวกลวง” ได้มากกว่า ซึ่งการตรวจเลือด IGRAs นั้น เป็นหนึ่งในการตรวจที่มีในแพ็กเกจตรวจสุขภาพมาตรฐาน
ดังนั้น อยากรู้เท่าทัน “วัณโรคแฝง” การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยได้
ใช่คุณหรือไม่? ที่เสี่ยงวัณโรคแฝง
หากถามว่าใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงวัณโรคแฝง คงต้องบอกว่า “ทุกคน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่
สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค
เดินทางไปในที่ชุมชนแออัด หรือมีคนจำนวนมาก
เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
วัณโรคแฝง รักษาได้หรือไม่?
หากตรวจพบว่ามีค่า Interferon-gamma (IFN-γ) แนวทางการรักษาหลักๆ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ
ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในระดับปกติ : แพทย์จะพิจารณาในการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีประวัติเคยเป็นวัณโรค : แพทย์จะพิจาณราใช้ยายับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ในการทานยาสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
ดูแลตัวเองอย่างไร? เพื่อลดความเสี่ยงวัณโรคแฝง
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นวัณโรค
* สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อเดินทางไปในที่มีผู้คนจำนวนมาก
* ล้างมือสม่ำเสมอหลังหยิบจับสิ่งของร่วมกับผู้อื่น
* ออกกำลังกายเพื่อเสริมความภูมิคุ้มกัน
* ตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูการทำงานของปอด และคัดกรองความเสี่ยงวัณโรคแฝง
ขอบคุณข้อมูลจาก
นพ. วิชัย บุญสร้างสุข
อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท 3
https://www.phyathai.com/th/article/latent-tuberculosis-acticle-pt3