หินปูนเกาะกระดูกอาการปวดเรื้อรังตามร่างกายอันตรายกว่าที่คิด !

หินปูนเกาะในกระดูก หรือโรคกระดูกงอก ไม่ต้องรอให้แก่ก็เป็นได้ หากมีอาการปวดคอ ปวดไหล่ประจำ ต้องเช็กดูสักหน่อย


อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจไม่ได้เกิดจากปัญหาที่กล้ามเนื้อเสมอไป เพราะยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่คาดไม่ถึง นั่นก็คือ ภาวะหินปูนเกาะกระดูก ซึ่งเดี๋ยวนี้พบคนป่วยกันมากขึ้น เราลองไปทำความรู้จักโรคหินปูนเกาะกระดูก พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน

หินปูนเกาะกระดูก สาเหตุเกิดจากอะไร ?
ต้องบอกก่อนว่า หินปูนเกาะกระดูกแบบนี้ไม่เหมือนกับหินปูนที่ติดตามซอกฟัน เพราะหินปูนที่ฟันนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งรวมตัวกับโปรตีนหรือเศษอาหารจนกลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่ขอบฟันที่ติดกับเหงือก


แต่หินปูนเกาะกระดูก หรือในทางการแพทย์เรียกว่า "โรคกระดูกงอก" สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายดึงแคลเซียมไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อม แตก หัก ทำให้กระดูกส่วนนั้นสะสมแคลเซียมพอกหนาผิดธรรมชาติ และเสียรูปทรงไป


หินปูนเกาะกระดูก ใครเสี่ยง ?
- ผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายเริ่มเสื่อมตามวัย
- หญิงวัยหมดประจำเดือน
- คนที่ได้รับแรงกระแทกบ่อย ๆ เช่น เล่นกีฬาอย่างหักโหม ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานเป็นประจำแล้วไม่ยอมพัก ทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาด มีอาการอักเสบเรื้อรัง จนร่างกายต้องดึงแคลเซียมมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ กระดูก
- คนที่มีน้ำหนักเกิน
- คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือคนที่ขยับร่างกายน้อย เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานทั้งวัน พบได้ไม่บ่อย แต่ก็มีโอกาสเป็นได้


หินปูนเกาะกระดูก อาการเป็นอย่างไร ?
ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับกระดูกทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกศีรษะ หน้าผาก คอ หู กระดูกแขน ขา กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ข้อเข่า ส้นเท้า เส้นเอ็น โดยเฉพาะบริเวณหัวไหล่ ซึ่งการที่มีหินปูนเกาะกระดูกส่วนต่าง ๆ จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติตามอวัยวะส่วนนั้น เช่น


โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otosclerosis)
เกิดจากหินปูนมีการเจริญเติบโตผิดปกติในหูชั้นกลาง ทำให้เสียงลอดผ่านเข้าไปในหูชั้นในไม่ได้ จึงมีอาการหูอื้อ หูตึง มักเป็นข้างเดียวก่อน จากนั้นจะมีเสียงดังในหู รู้สึกดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเวียนศีรษะ บ้านหมุน เนื่องจากมีหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน หากปล่อยไว้ไม่รักษามีสิทธิ์หูหนวกถาวร


สำหรับสาเหตุของโรคหินปูนเกาะกระดูกหู ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มที่โรคนี้จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด โดยโรคนี้มักพบในคนอายุ 30-40 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย


ทั้งนี้ แพทย์จะรักษาตามอาการ หากเป็นไม่มากจะใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อช่วยขยายเสียงที่ได้ยิน หรือหากเป็นมากจะต้องทำการผ่าตัด


หินปูนเกาะกระดูกคอ
มักเกิดในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งกระดูกคอเริ่มเสื่อมแล้ว ทำให้มีหินปูนมาจับ จึงมีอาการปวดต้นคอ และหากกดทับเส้นประสาทด้วยจะรู้สึกชา ปวดร้าวลงมาที่แขน ปลายนิ้วมือ
               


                 "กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ไม่แก่ก็ต้องระวัง"


หินปูนเกาะกระดูกไหล่
หรืออาการกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ส่งผลให้ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ยกแขนขึ้นไม่สุด หากพบในผู้สูงอายุมักเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย แต่ในวัยทำงานมักเกิดจากการใช้ข้อไหล่มากเกินไป เช่น เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือการทำงานที่ทำให้เส้นเอ็นตรงข้อไหล่ได้รับบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ร่างกายต้องดึงแคลเซียมไปซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย


หินปูนเกาะกระดูกสันหลัง
หรือโรคกระดูกงอกบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ รวมทั้งหมอนรองกระดูก เมื่อเกิดกระดูกงอกจะไม่แสดงอาการปวดใด ๆ จนกระทั่งกระดูกงอกไปทับหลอดเลือด หรือเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้มีอาการปวดร้าวลงแขน ชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า หากกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออัมพาตได้เลย

หินปูนเกาะกระดูก อันตรายไหม ?
การที่มีกระดูกงอกส่งผลให้เกิดอันตรายหลายด้าน ได้แก่
- มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่มีกระดูกงอก
- อาจใช้งานอวัยวะดังกล่าวได้ไม่ปกติ เช่น หากหินปูนเกาะกระดูกหูจะมีอาการหูอื้อ หูตึง หรือถ้าเกาะข้อเข่าก็จะนั่งพับเพียบ นั่งยอง ๆ ไม่ได้
- ใช้ชีวิตประจำวันไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม เช่น หากเกิดบริเวณส้นเท้า จะทำให้เดินเหินช้าลง หรือลำบากในการเดิน การยืน
- หากหินปูนเกาะมาก ๆ อาจทิ่มกล้ามเนื้อ หรือกดทับเส้นประสาท ส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ทำให้มีอาการชา ไปจนถึงขั้นอัมพาต


หินปูนเกาะกระดูก รักษาอย่างไร
แพทย์จะตรวจร่างกายก่อนด้วยการเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์ เพื่อดูปริมาณและการกระจายตัวของแคลเซียม รวมทั้งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ จากนั้นจึงวางแผนรักษาต่อไป โดยมีหลายวิธีที่จะช่วยรักษาได้ เช่น
- รับประทานยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ
- ทำกายภาพบำบัด
- ลดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกบริเวณนั้น รวมทั้งลดความอ้วนหากน้ำหนักเกิน
- ฉีดยาสเตียรอยด์
- รักษาด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง (Radial shockwave) เพื่อสลายหินปูน ช่วยลดอาการปวดบริเวณข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ
- ผ่าตัด เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น แพทย์จะใช้วิธีนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก และการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ช่วยบรรเทาอาการ
อย่างไรก็ตาม การรักษาจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีหินปูนเกาะอยู่ด้วย


วิธีป้องกันโรคหินปูนเกาะกระดูก
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้น การเสริมความแข็งแรงให้กระดูกและข้อต่อจึงน่าจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ โดยควรดูแลตัวเองดังนี้
รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง


เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก โดยกรมอนามัยแนะนำว่า ผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 50 ปี ควรได้รับแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม ส่วนคนที่อายุมากกว่า 50 ปี ต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งสามารถหารับประทานแคลเซียมได้จากเนื้อสัตว์ ปลาเล็กปลาน้อย นม โยเกิร์ต ชีส เต้าหู้ ถั่ว งาดำ ผักใบเขียว ดอกแค เป็นต้น
12 อาหารอุดมแคลเซียม ไม่ต้องง้อนมเลยก็ได้ 
รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3
เช่น ปลาทะเล เพราะโอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นเอ็น เนื้อเยื่อยึดต่อต่าง ๆ
ออกกำลังกายเป็นประจำ
 
ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยเลือกการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่มีการใช้แรงต้าน เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินไกล เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เต้นรำ รำมวยจีน ยกน้ำหนัก กระโดดเชือก ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อส่วนต่าง ๆ แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม จะเลือกออกกำลังกายแบบไหนต้องพิจารณาลักษณะของตัวเองด้วย เช่น
- หากมีอาการหินปูนเกาะบริเวณหัวไหล่ ควรเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้ไหล่และแขน เช่น การแกว่งแขน เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น เพราะจะยิ่งทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานหนักขึ้น โดยเลือกการออกกำลังกายที่ช่วยบริหารยืดข้อไหล่อย่างช้า ๆ แทน เช่น ใช้มือไต่ผนัง รำกระบอง รำมวยจีน
- หากรูปร่างอ้วนเกินไป ก็ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้น เพราะจะยิ่งทำให้เอ็นกล้ามเนื้อทำงานมากและฉีกขาด ส่งผลให้ร่างกายดึงแคลเซียมมาซ่อมแซมจุดที่เสียหาย กลายเป็นกระดูกงอกขึ้นมาได้อีก ดังนั้น คนอ้วนควรออกกำลังด้วยการเดิน หรือแกว่งแขนจะดีกว่า


สัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวัน
การรับแสงแดดเพียง 15-30 นาทีต่อวัน จะช่วยให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี และช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมได้ผลดีขึ้น ทั้งนี้ เวลาที่เหมาะสมในการออกไปรับแสงแดดก็คือ ช่วง 08.00-10.00 น. และช่วงเย็นประมาณ 15.00-17.00 น.


ตรวจค่าความหนาแน่นมวลกระดูกเสมอ
ยิ่งมีอายุมากขึ้น ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะยิ่งลดลง โดยเฉพาะผู้หญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป ดังนั้น ควรตรวจค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี


ลดพฤติกรรมที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม การกินเค็มจัด รวมทั้งการสูบบุหรี่ ล้วนมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรงอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งควรลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดอุดตันไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ กระดูก หมอนรองกระดูกได้อย่างเพียงพอ


ลดความอ้วน
การมีน้ำหนักเกินจะทำให้ข้อต่อ หมอนรองกระดูก โดยเฉพาะส่วนสะโพก เข่า ข้อเท้า ส้นเท้า รับน้ำหนักมากเกินปกติ จึงควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม


ด้วยไลฟ์สไตล์บางอย่างของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวน้อยลง รับประทานอาหารตามใจปาก ล้วนส่งผลให้สุขภาพอ่อนแอลง ดังนั้น คงถึงเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อชะลอความเสื่อมของร่างกาย ไม่ให้ส่งผลร้ายก่อนวัย


 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรงพยาบาลเปาโล
- หมอชาวบ้าน


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :

https://health.kapook.com/view234907.html