ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย

ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) หรือไข้รากสาดน้อย เป็นอีกหนึ่งโรคที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา แต่สามารถพบได้น้อยในประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว


พ.ศ. 2558 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ถึง 1,585 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยของไข้ไทฟอยด์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ เมื่อพิจารณาแยกตามภาคแล้ว พบว่าภาคใต้เป็นภาคที่มีอัตราการติดเชื้อสูงมากที่สุด


สาเหตุของไข้ไทฟอยด์
ไข้ไทฟอยด์ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella) กลุ่มไทฟอยด์ซัลโมเนลลา (Typhoidal Salmonella) ได้แก่ ซัลโมเนลลาไทฟิ (Salmonella typhi) และซัลโมเนลลาพาราไทฟิ (Salmonella paratyphi) ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถก่อโรคติดเชื้อในทางเดินอาหารได้


โดยเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากผู้ป่วยผ่านทางอุจจาระ ซึ่งการขับถ่ายของเสียที่ไม่ถูกสุขอนามัย เช่น การขับถ่ายลงแหล่งน้ำ หรือการทิ้งของเสียและสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ โดยอาจปนเปื้อนมาในอาหารและน้ำดื่ม


นอกจากไข้ไทฟอยด์แล้ว ยังมีโรคไข้อื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสอีก เช่น ไข้ทับระดู และไข้อีดำอีแดง


ความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้ไทฟอยด์
ในปัจจุบันการรณรงค์เรื่องการรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดของอาหารและการขับถ่าย จะทำให้อัตราการเกิดไข้ไทฟอยด์ลงลง แต่บางสถานการณ์อาจทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ เช่น
- การอยู่อาศัย หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาด
- การทำงานในสถานรักษาพยาบาล
- การทำงานในห้องปฏิบัติการที่อาจได้รับการสัมผัสกับเชื้อโรค
- มีคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัวได้


การก่อโรคของไข้ไทฟอยด์
ช่องทางการติดต่อที่สำคัญของไข้ไทฟอยด์คือ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะผ่านไปตามทางเดินอาหารส่วนต่างๆ


โดยทั่วไปเชื้อโรคส่วนใหญ่ทั้งชนิดก่อโรคและไม่ก่อโรค มักจะถูกทำลายหรือทำให้หมดฤทธิ์จากกรดในกระเพาะอาหาร น้ำย่อย และเอนไซม์ต่างๆ แต่เชื้อก่อโรคไทฟอยด์สามารถทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้


เมื่อเชื้อรอดพ้นจากการทำลายที่กระเพาะอาหาร ก็จะเคลื่อนที่ไปยังลำไส้เล็กในส่วนปลาย และสามารถผ่านเยื่อบุของลำไส้เล็กเข้าไปเจริญภายในผนังด้านใน บริเวณนี้เชื้อไข้ไทฟอยด์ก็จะถูกเม็ดเลือดขาวจับกิน


แต่เชื้อสามารถทนทานต่อการถูกทำลายโดยเม็ดเลือดขาวได้ จึงทำให้เม็ดเลือดขาวที่มีเชื้อโรคอยู่ภายในนี้ สามารถกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้ไทฟอยด์ไปตามอวัยวะต่างๆ ผ่านทางท่อน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ไข้สันหลัง และตับ


เมื่อเชื้อไทฟอยด์กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ แล้ว ก็จะมีการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะเดินทางเข้าสู่กระแสโลหิต โดยอาจเดินทางเข้าสู่ถึงน้ำดี และถูกขับออกมาที่ทางเดินอาหารพร้อมกับน้ำดี


โดยเชื้ออาจจะถูกขับออกมาพร้อมกับการถ่ายอุจจาระ ซึ่งจะแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น หรือเชื้ออาจจะเดินทางเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง และกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ซ้ำอีกครั้งก็ได้


อาการของไข้ไทฟอยด์
หลักจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ ก็จะเข้าสู่ระยะฟักตัวของเชื้อโรค โดยไข้ไทฟอยด์จะมีระยะฟักตัวในร่างกายอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 21 วัน เมื่อพ้นระยะฟักตัวแล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีอาการแสดงของโรค โดยอาการเริ่มแรก และถือว่าเป็นอาการเด่นของการติดเชื้อไทฟอยด์ คือ ไข้


ไข้ในไทฟอยด์นั้นจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน โดยอุณหภูมิร่างกายอาจจะลดลงได้ในตอนเช้า จากนั้นก็จะค่อยๆ สูงขึ้นอีก ไข้อาจสูงได้ถึง 39–40 องศาเซลเซียส โดยไข้จะเริ่มสูงคงที่หลังจากมีอาการมาแล้วประมาณ 7 วัน


ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ภาวะจับสั่น มีเหงื่อออก เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเบื่ออาหาร


นอกจากนี้ ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 อาจมีภาวะเลือดกำเดาไหลได้


อาการในช่วงสัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่สอง
ผลการตรวจร่างกาย (Physical examination) ผู้ป่วยอาจมีภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) รวมถึงอาจพบว่า มีผื่นแดงนูน หรือผื่นแดงราบเกิดขึ้น ลักษณะผื่นจะใหญ่ประมาณ 2 ถึง 4 มิลลิเมตร และมักจะพบผื่นได้ไม่เกิน 5 ตำแหน่ง


โดยทั่วไปแล้วผื่นที่เกิดขึ้นมักจะหายไปเองภายใน 2 ถึง 5 วัน


สำหรับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในช่วงสัปดาห์แรก อาจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophils ต่ำลง อีกทั้งยังสามารถพบเชื้อ S. Typhi ได้จากการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วย


อาการในช่วงสัปดาห์ที่สาม
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อย และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ คือ ภาวะเลือดออกในลำไส้ และภาวะลำไล้เล็กส่วนปลายทะลุ


นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการแทรกซ้อนได้ในอวัยวะหลายๆ ระบบ เช่น
- การติดเชื้อเยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลทำให้เยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ภาวะการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย ส่งผลทำให้แขนและขาอ่อนแรง
- การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก คอแข็ง ซึ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิต รวมถึงอาจส่งผลทำให้เกิดความพิการขึ้นได้
- อาจเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะแสบขัดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรืออาจเกิดกรวยไตอักเสบซึ่งมีอาการรุนแรงกว่าได้
- เกิดฝีหนองตับ ม้าม รวมถึงอาจเกิดตับอ่อนอักเสบ
- เกิดการติดเชื้อที่กระดูกและกล้ามเนื้อได้ด้วยเช่นกัน


ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ อาการต่างๆ ก็จะดีขึ้น โดยอาการไข้จะหายได้เร็วขึ้นภายใน 3-5 วันเท่านั้น แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการไข้อาจเกิดขึ้นได้ 14-28 วัน


นอกจากนี้การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยป้องกันไม่ได้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดตามมาได้ อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา


ดังนั้นการพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหลังจากเริ่มมีอาการที่น่าสงสัยว่าน่าจะเป็นไข้ไทฟอยด์ ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเสียชีวิตลงได้


การวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์
นอกเหนือจากการสังเกตอาการ รวมถึงการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย และยืนยันการติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี
1. การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งและเนื้อเยื่อจากตัวผู้ป่วย
การเพาะเชื้อจากไขกระดูก มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจพบเชื้อได้ 90% แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่ตัวผู้ป่วย สำหรับการเพาะเชื้อจากเลือดนั้น อาจไม่เจ็บตัวเท่ากับการใช้ไขกระดูก แต่โอกาสที่จะพบเชื้อนั้นมีน้อยกว่า


2. การตรวจหาเชื้อไทฟอยด์จากแอนติเจน (Antigen)
แอนติเจน เป็นสารที่พบได้ในตัวเชื้อโรค และจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อ วิธีนี้เรียกว่า Widal Test เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก มีราคาไม่แพงมากนัก แต่มีข้อเสียคือ ผลการตรวจไม่ค่อยแม่นยำ และอาจเกิดการผิดพลาดได้


3. การตรวจอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาว การตรวจสภาวะการทำงานของตับ แม้ว่าค่าจากการตรวจเหล่านี้อาจผิดปกติเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ แต่อาจบอกผลการตรวจได้ไม่แม่นยำนัก เนื่องจากอาจมีภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลทำให้ค่าเหล่านี้ผิดปกติได้เช่นเดียวกัน


การรักษาไข้ไทฟอยด์
ในปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ รวมถึงการคิดค้นวิจัยยาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ทำให้การรักษาไข้ไทฟอยด์นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


สำหรับยาปฏิชีวนะที่ใช้ส่วนใหญ่นั้น เป็นยาในกลุ่มฟลูโอโลควิโนโลน (Fluoroquinolones) เช่น ซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) รวมถึงยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) รุ่นที่สาม เช่น เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)


สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะลำไส้เล็กทะลุ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องท้อง


นอกจากการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาแบบประคับประคองควบคู่กันไปด้วย เช่น
- การให้ยาลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูง เช่น การใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง
- การเช็ดตัวลดไข้ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
- การดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะท้องเสีย หรืออาจเจียน
- ถ้าผู้ป่วยมีภาวะท้องเสียและอาเจียนที่รุนแรง อาจให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดได้


วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้ไทฟอยด์
การป้องกันการติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ มีดังนี้
- รักษาสุขอนามัยส่วนตัวให้สะอาด เช่น ล้างมือหลังจากการเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำที่สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ้าไม่สะดวกก็อาจพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือก็ได้
- ล้างวัตถุดิบก่อนการปรุงอาหาร เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ ให้สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อที่อาจติดมากับวัตถุดิบ
- ช่วยกันรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ ไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงแม่น้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ในวงกว้างได้
- ในกรณีที่มีผู้ป่วยไข้ไทฟอยด์อาศัยอยู่ร่วมภายในบ้านเดียวกัน ควรระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ควรซักเสื้อผ้าของผู้ป่วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จัดสถานที่ขับถ่ายของผู้ป่วยให้สะอาดถูกสุขลักษณะ และไม่ควรให้ผู้ป่วยเป็นคนทำอาหาร เพราะอาจนำเชื่อโรคปนเปื้อนไปที่อาหารได้
- การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไข้ไทฟอยด์ ซึ่งให้ผลในการป้องกันได้เพียงแค่ 2-5 ปี ระยะเวลาในการป้องกันโรคจะขึ้นกับชนิดของวัคซีนที่ได้รับ โดยวัคซีนมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ซึ่งการใช้วัคซีนในประเทศไทยนั้น จะแนะนำให้กับเฉพาะผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ทำงานกับเชื้อโรค หรือต้องอยู่อาศัยกับผู้ป่วยติดเชื้อ
- สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด มีคำแนะนำว่า ก่อนการเดินทาง ควรฉีดวัคซีนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้


ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีการติดต่อกันระหว่างคนผ่านทางแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสียได้


ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตถึง 99%


นอกจากนี้การรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ถือเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดไข้ไทฟอยด์ที่ดีที่สุด


 

 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย  : นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล


- World Health Organization (WHO), Typhoid (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/typhoid), 12 March 2020.


- ผศ.ดร.มัลลิกา (ไตรเดช) ชมนาวัง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 1) ไข้ไทฟอยด์ (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/73/ไข้ไทฟอยด์-โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม-ตอนที่1/), 18 พฤษภาคม 2563.


- คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไทฟอยด์ (Typhoid) (https://www.thaitravelclinic.com/blog/th/travel-medicine-issue/thai-typhoid-vaccine.html), , 18 พฤษภาคม 2563.


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://hdmall.co.th/blog/health/typhoid-fever-causes-symptoms-and-treatments/