ลดน้ำหนักตามประสา คนมีปัญหาหัวใจ

สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ.
หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคหัวใจ
          มีคำถามจากผู้ป่วยท่านหนึ่ง: “ผมอายุ 50 ปี สูง 165 เซนติเมตร หนัก 75 กิโลกรัม เริ่มรู้สึกเจ็บหัวเข่าเวลานั่งพับเพียบ จึงอยากออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก  ผมมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ไม่ทราบว่าจะใช้วิธีเดินออกกำลังกายได้ไหมครับ”
          ในฐานะแพทย์โรคหัวใจและเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ขอตอบดังนี้ครับ.. ผู้ถามเป็นคนอ้วน เนื่องจากดัชนีมวลกาย (น้ำหนักหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)  เกินกว่า 25 กก.ต่อตารางเมตร (ดัชนีมวลกายของผู้ถาม คือ 75 / 1.652  = 27.5) หรือ น้ำหนักเกินกว่า 68 กก. (น้ำหนักที่เกินแล้วถือว่าอ้วนของผู้ถาม คำนวณได้จาก ส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง คูณด้วยค่าดัชนีมวลกาย 25 กก.ต่อตารางเมตร คือ 1.65 x 1.65 x 25 = 68 กก.) การที่น้ำหนักเกินไป 7 กก. (75-68 กก.) เป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บหัวเข่าเวลานั่งพับเพียบ การลดน้ำหนักจึงเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ส่วนโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ไม่ทราบว่า เป็นโรคหัวใจอะไร แบบไหน จึงต้องแยกตอบเป็น 2 แบบ คือ
          แบบที่ 1 เป็นโรคหัวใจที่รุนแรง มีโอกาสเสี่ยงสูง เวลาออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น เสียชีวิตเฉียบพลัน หมดสติ เป็นต้น คงต้องไปพบแพทย์โรคหัวใจหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้การกำกับดูแลการออกกำลังกายในโรงพยาบาลก่อนว่า ปลอดภัยพอแล้วจึงไปออกกำลังกายนอกโรงพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์
         แบบที่ 2 เป็นโรคหัวใจที่ไม่รุนแรง ไม่มีอาการอะไรผิดปกติที่สังเกตเองหรือผู้อื่นสังเกตได้เวลาออกกำลังกาย เช่น เดินขึ้นลงบันได 1 ชั้น หรือ เดินขึ้นสะพานลอยได้โดยไม่มีอาการอะไร ก็ให้ใช้การเดินเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง เพียงแต่ใช้เวลาเดินให้มากขึ้น เป็นสองเท่า สามเท่า เพิ่มไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่แน่ใจว่า เราเองอยู่ในผู้ป่วยโรคหัวใจแบบที่ 2 หรือไม่ ก็ต้องปรึกษาแพทย์โรคหัวใจหรือเวชศาสตร์ฟื้นฟูก่อนครับ

          การเดินเพื่อลดน้ำหนัก มีหลายแบบ หลายวิธี เช่น เดินเร็ว(เดินจนร้องเพลงไม่เพราะแต่ยังพูดเป็นคำ ๆ) เดินแข่ง(เดินเร็วจนพูดไม่เป็นคำ) เดินจงกรม เดินสายพาน เดินขึ้นบันได เดินในน้ำ (ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ไม่ควรเดินในน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าลิ้นปี่ เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น) แต่วิธีที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกคน คือการเดินบนพื้นราบตามปกติที่เคยเดิน(เดินอย่างนี้ตั้งแต่เกิด) แต่ให้เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้นเรื่อย ๆ เพิ่มจำนวนก้าวเดินให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เครื่องนับก้าว หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ที่สามารถนับก้าวเดิน เช่น My Act ให้ได้มากกว่า 5 พันก้าวต่อวัน แล้วเพิ่มเรื่อย ๆ ให้ได้เกินหนึ่งหมื่นก้าว อีกวิธีคือ เดินเร็วเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ สะสมจนได้อย่างน้อย 90 นาทีต่อวัน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอะไรในระหว่างเดิน เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อย หายใจไม่สะดวก หน้ามืดจะเป็นลม ก็ให้นั่งพัก หายใจเข้าออกยาว ๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นในห้านาที ก็สมควรจะไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย  และ/หรือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดังนั้น ควรเดินในที่สาธารณะ มีเพื่อนเดินไปด้วย หรือมีวิธีขอความช่วยเหลือ เวลาฉุกเฉิน เช่น นกหวีด หรือ แอปพลิเคชัน Fast track หรือ EmerPlus
          จะรู้ได้อย่างไรว่า การเดินของเรา แรงพอ มากพอ และนานพอ ที่จะลดน้ำหนักหรือยัง ก็ให้ชั่งน้ำหนักตอนเช้าหลังอุจจาระปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว สวมเสื้อผ้าชุดเก่า เวลาเดิม เครื่องชั่งน้ำหนักเดิมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 0.3-0.5 กก. แสดงว่า 3-7 วันที่ผ่านมา เรา ใช้ “พลังงาน” จากการเดินน้อยกว่า กิน “พลังงาน” จากอาหารเครื่องดื่ม ก็ต้องไป “ลดพลังงานจากอาหาร”(ลดอาหารประเภท แป้ง ทอด หวาน มัน) และ”เพิ่มเวลาเดินให้นานขึ้น” เช่น เดินรอบโต๊ะกินข้าวหลังอาหารทุกมื้อ เดินฟังทีวีแทนนั่งดูทีวีทุกวัน จนน้ำหนักไม่เพิ่มไม่ลดในเวลา 1 เดือน แสดงว่า การใช้พลังงาน การกินพลังงานของเราสมดุลแล้ว(กินเท่ากับใช้) ถ้าอยากจะลดน้ำหนัก ก็ให้ “ใช้พลังงานจากการเดิน” ให้มากขึ้น และลด “กินพลังงานจากอาหาร” ให้น้อยลงไปอีก น้ำหนักตัวก็จะลดลงเอง เดือนละกิโล(กรัม)สบาย ๆ ครับ แต่อย่าลดน้ำหนักเร็วเกินไป  เราใช้เวลาเท่าไรในการเพิ่มน้ำหนัก ก็ใช้เวลาเท่านั้นในการลดน้ำหนักเช่นกัน