งานวิจัยครั้งใหม่รายงานว่า มีระยะเวลาเหมาะสมที่สุดที่เราควรนอนหลับเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
ผลการค้นพบครั้งใหม่แสดงว่า คนที่นอนหลับได้ 6 ถึง 7 ชั่วโมง ตอนกลางคืน ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะเสียชีวิตจากหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
คณะผู้วิจัยค้นพบว่า การตื่นเร็วไปหรือการหลับเกินเวลาที่เหมาะสม จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 45
แนวโน้มนี้ยังเป็นจริงแม้หลังจากนักวิจัยได้พิจารณาปรับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เราทราบสำหรับโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย และระดับคอเลสเตอรอลสูง
“การนอนหลับยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระ เมื่อได้พิจารณาปัจจัยอื่นแล้ว” Dr. Kartik Gupta แพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ภายในที่ Henry Ford Hospital ในเมืองดีทรอยต์ กล่าว
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ Dr. Gupta และคณะผู้ร่วมงานได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการศึกษามากกว่า 14,000 ในโครงการสำรวจ U.S. National Health and Nutrition Examination Survey ระหว่างปี 2005 ถึง 2010 โดยส่วนหนึ่งของการสำรวจ ได้ถามผู้เข้าร่วมว่าโดยปกตินอนหลับวันละกี่ชั่วโมง
คณะผู้วิจัยได้ติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นเวลา 7.5 ปีโดยเฉลี่ย เพื่อดูว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ คณะผู้วิจัยยังประเมินคะแนนความเสี่ยงต่อสุขภาพของหัวใจ รวมทั้งระดับ C-reactive protein (CRP) ในเลือด ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อมีการอักเสบในร่างกาย ระดับ CRP ที่สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ
คณะทำงานวิจัยพบความสัมพันธ์รูปตัว U ระหว่างความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและระยะเวลาการนอนหลับ โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุดในคนที่นอนระหว่าง 6 และ 7 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย
การนอนไม่พอมีความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ไม่ดีของหัวใจ Dr. Martha Gulati บรรณาธิการบริหารจาก CardioSmart.org เว็บไซต์ที่ให้การศึกษาสำหรับผู้ป่วยโดย American College of Cardiology กล่าว
“เรามีข้อมูลมากมายที่สัมพันธ์กับการนอนน้อย” Dr. Gulati แพทย์สาขาหทัยวิทยา กล่าว เธอบอกว่า การนอนน้อยเกินไปจะเร่งจำนวนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อโรคหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิต ความสามารถของร่างกายในการใช้หรือเผาผลาญกลูโคส (glucose tolerance) โรคเบาหวานและการอักเสบ
Dr. Gulati และ Dr. Gupta กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานมากนักเกี่ยวกับคนที่หลับนานเกินไปและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
Dr. Gupta และคณะผู้ร่วมงาน พบคำอธิบายที่เป็นไปได้ในงานวิจัยของพวกเขา เมื่อพิจารณาจากระดับ CRP ของผู้ป่วย การอักเสบเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับภาวะของหัวใจประมาณร้อยละ 14 ในกลุ่มผู้ที่นอนน้อย และร้อยละ 13 ของผู้ที่นอนยาวนาน เทียบกับร้อยละ 11 ของประชากรที่นอนหลับระหว่าง 6 ถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม
“ผู้ป่วยที่นอนหลับเป็นเวลา 6 ถึง 7 ชั่วโมง มีระดับ CRP น้อยที่สุด ดังนั้น การอักเสบนี้อาจผลักดันให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น” Dr. Gupta กล่าว
อาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่นอนหลับนานกว่า 7 ชั่วโมง มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี ดังนั้น จึงต้องนอนยาวนานขึ้น การนอนที่ไม่มีคุณภาพสามารถผลักดันให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในผู้ที่นอนดึก Dr. Gulati กล่าว
“ฉันพูดเสมอว่า มีการนอนหลับที่ดีและไม่ดี คุณอาจจะนอนได้ 8 ชั่วโมง แต่เป็นการนอนที่มีคุณภาพที่ดีหรือไม่”
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับสำหรับการทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น จากคำแนะนำของ Harvard Medical School:
1. หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและนิโคติน 4 ถึง6 ชั่วโมง ก่อนเวลานอน
2. ให้ห้องนอนมืด เงียบ และเย็น เพื่อช่วยให้นอนได้ดีขึ้น
3. มีการผ่อนคลายเป็นประจำช่วง 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ก่อนเข้านอน
4. ไม่พยายามฝืนให้ตัวเองหลับ ถ้านอนไม่หลับภายในประมาณ 20 นาที ให้ลุกขึ้นและทำสิ่งที่ช่วยให้
5. ผ่อนคลายระยะสั้น ๆ จนกว่าจะรู้สึกง่วง
6. รับประทานอาหารเย็นให้เสร็จหลายชั่วโมงก่อนเวลานอน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องปั่นป่วน
7. ออกกำลังกายแต่เนิ่น ๆ อย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเวลานอน
Dr. Gulati กล่าวว่า “อยากจะบอกว่าแพทย์ควรซักถามเกี่ยวกับการนอนหลับ คิดว่าการนอนควรเป็นเหมือนสัญญาณชีพอย่างหนึ่ง
มีการนำเสนอผลการค้นพบนี้ต่อที่ประชุมประจำปีของ American College of Cardiology ซึ่งถือว่าเป็นรายงานเบื้องต้นจนกว่าจะได้รับการทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญและเผยแพร่ในวารสาร