“มะเร็งปอด” โรคร้ายที่มักตรวจพบเจอเมื่อมีอาการและโรคเข้าสู่ระยะลุกลามทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ควันบุหรี่มือสอง งานที่ต้องสัมผัสสารก่อมะเร็ง พันธุกรรมมีความเสี่ยง รวมถึงการดำเนินชีวิตท่ามกลางมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด จากสถิติองค์การอนามัยโลกพบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2.5 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมะเร็งปอดพบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 17,222 คน เฉลี่ยวันละ 48 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 40 คน มะเร็งปอด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% มะเร็งชนิดเซลล์ไม่ใช่ขนาดเล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 85-90% เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการนำก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือดและนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลามความรุนแรงต่อชีวิตจึงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม หากตรวจให้พบเจอได้ตั้งแต่ระยะแรกจะมีโอกาสรักษาหายสูง แต่ความน่าวิตกคือผู้ป่วยมะเร็งปอดมักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามไปมากแล้วทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น หรืออาจทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคอง
แพทย์หญิงณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคมะเร็งปอดจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสภาวะความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยการรักษาในปัจจุบันนั้น ประกอบไปด้วย การผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง และ/หรือการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งอาจต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการรักษา เช่น หากเป็นชนิดเซลล์ขนาดเล็ก การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด แต่ถ้าหากเป็นชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็กที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง การรักษาหลักคือการผ่าตัดและตามด้วยยาเคมีบำบัด ในบางกรณีหากโรคเริ่มลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง จำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายชนิดร่วมกัน แต่ถ้าหากโรคลุกลามไปมากแล้ว การรักษาด้วยยาต่าง ๆ จะเป็นการรักษาหลัก ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น
มะเร็งปอดถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมากส่งผลกระทบต่อชีวิตสูง อีกทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะแรกค่อนข้างลำบากทำให้ประสิทธิภาพของการรักษามีข้อจำกัด ทางที่ดีที่สุดคือควรมุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโดยสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งปอดนั้นเกิดจากบุหรี่ จึงควรหยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่อาศัยในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายหากต้องปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง
25 พฤศจิกายน 2567