อาหารเพื่อผู้สูงวัย ชะลอวัยชะลอโรค

www.medi.co.th

อาหารเพื่อผู้สูงวัย ชะลอวัยชะลอโรค ยืดอายุขัยให้ยาวนาน


“ผู้สูงอายุ” หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีกิจกรรมน้อยลงทำให้ควรได้รับพลังงานที่ลดลง แต่ความต้องการสารอาหารยังมีเท่าเดิม อีกทั้งยังมีส่วนที่สึกหรอ โภชนาการของผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่เพื่อให้ช่วยพัฒนาสมอง ความทรงจำ และสร้างภูมิต้านทานโรคได้
ปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ คือ ภาวะทุพโภชนาการขาดสารอาหาร เพราะประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้สูงอายุที่ลดลง ปัญหาเกี่ยวกับฟันทำให้การเคี้ยวอาหารได้ลดลง กระเพาะอาหาร และน้ำย่อยทำงานน้อยลง รวมถึงระบบดูดซึมสารอาหารลดลงจึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอซึ่งแน่นอนเมื่อฟันและกระเพาะไม่เอื้อ อาหารที่ดีสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารให้พลังงานพอเหมาะ ให้สารอาหารสูง ลักษณะอาหารเคี้ยวกลืนได้ง่าย ย่อยง่าย อ่อนนุ่ม รสชาติไม่จัดมาก อาจใช้เครื่องเทศ สมุนไพร ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติ


ผู้สูงอายุต้องการพลังงาน 1,400 ถึง 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ชะลอความเสื่อมของกระดูก ด้วยการกินอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน แคลเซียม วิตามินดี เค และแมกนีเซียม ซึ่งพบใน นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม เต้าหู้แข็ง ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ และ ควรกินโปรตีนที่ดี บำรุงสมอง และระบบประสาท ป้องกันการชาตามปลายมือปลายเท้า ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 สารสื่อประสาทโคลิน เลซิติน และวิตามินบีต่างๆ ได้แก่ บี1 บี6 และบี12 เป็นต้น ซึ่งพบใน อาหารกลุ่ม ปลาทะเลน้ำลึก ใบแปะก๊วย ไข่แดง กล้วย ถั่วเหลืองและข้าวกล้อง
เติมสีสันในจาน! กลุ่มสีอาหารมากประโยชน์ เพิ่มภูมิต้านทานได้ตลอดชีวิต
โภชนบัญญัติ สำหรับผู้สูงอายุ
ควรกินอาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว กินข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย กินพืชผักและผลไม้ตามฤดูกาลเป็นประจำ กินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเป็นประจำ ดื่มนม และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นประจำ ให้เหมาะกับระดับไขมันในเลือดด้วย หลีกเลี่ยงอาหาร ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน
กินอาหารปรุงสุก สะอาด ปลอดภัย งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ควรได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมและง่ายต่อการย่อยเพื่อถนอมและชะลอโรคอย่างเหมาะสมกับวัย