เคล็ดลับ การซื้อยาให้ปลอดภัย

เคล็ดลับ การซื้อยาให้ปลอดภัย สมัยนี้คนเราเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านทรัพย์สิน เราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องต่าง ๆ แทบทุกเรื่อง ด้านทรัพย์สินนั้น เราสร้างความปลอดภัยโดยการอยู่ในถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ดี ส่วนด้านจิตใจ เราประคับประคองใจด้วยการปฏิบัติธรรมตามคติความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ  และสำหรับด้านร่างกาย เรามีการใส่ใจดูแลสุขภาพที่ดี โดยการหาอาหารเสริมต่าง ๆ มาบำรุงร่างกาย มีการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลาย


         บทความนี้จะนำเสนอเคล็ดลับในการเข้าร้านยาให้ปลอดภัย ท่านอาจจะสงสัยว่า “การเข้าร้านยามีอะไรไม่ปลอดภัย” แน่นอนถ้าเข้าร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำอาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยมากกว่า ถึงแม้ว่าเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรประจำก็อาจจะมีความไม่ปลอดภัยได้บ้าง ดังนั้น ท่านจึงควรทราบเคล็ดลับความปลอดภัยในการเข้าร้านยา โดยใช้หลักการ “ถามหาเภสัชกรและซื้อยาที่ถูก 5 ประการ” เคล็ดลับนี้เป็นสิ่งที่ง่าย และปฏิบัติได้เองเพื่อคุณ และคนที่คุณรัก


         เมื่อเข้ารับบริการที่ร้านยา ท่านต้องได้รับการสอบถามและได้รับคำแนะนำในประเด็นเหล่านี้


ถูกคน


    ท่านต้องได้รับการซักถามว่า ยาที่ซื้อนั้น “ท่านใช้เอง หรือซื้อให้คนอื่น” ดังนั้น ถ้าท่านจะซื้อยาให้คนอื่นใช้ หรือคนอื่นฝากมาซื้อยา ท่านควรต้องสอบถามอาการคนที่ฝากท่านซื้อยาให้ละเอียดว่ามีอาการอะไรบ้าง และถ้าท่านจะใช้ยาเองท่านต้องบอกเล่าอาการที่ท่านเจ็บป่วยให้เภสัชกรฟังอย่างละเอียด และอย่ารำคาญเมื่อเภสัชกรซักถามท่านหลายคำถาม นั่นแสดงให้เห็นว่าเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและเหมาะสม


ถูกโรค


         เภสัชกรต้องสอบถามท่านเกี่ยวกับอาการที่ไม่สบายอย่างละเอียด เรียกว่าสัมภาษณ์ตั้งแต่หัวจรดเท้า (ถ้าท่านเป็นหลายโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า) นอกจากนี้ ท่านต้องได้รับการสอบถามเกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่ก่อน หรือโรคเรื้อรังที่ท่านต้องใช้ยาเป็นประจำ เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่เภสัชกรจะสั่งจ่ายให้ท่านกับยาที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำ และเภสัชกรต้องสอบถามท่านว่า “เคยแพ้ยาอะไรบ้างหรือไม่” เพื่อป้องกันอันตรายจากการแพ้ยา เพราะยาบางชนิดอาการแพ้จะมากขึ้นมื่อใช้ยานั้นซ้ำ บางชนิดเป็นอันตรายถึงชีวิต


ถูกขนาด


       ในขั้นตอนนี้เภสัชกรต้องแนะนำ ชื่อยาที่ท่านได้รับ และขนาดยาที่ท่านได้รับ หรือถ้าท่านต้องการซื้อยาที่ซื้อใช้เป็นประจำ ควรต้องแจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาที่ท่านใช้อยู่ เพื่อความถูกต้องเหมาะสมของยาที่ใช้


ถูกวิธี


        ท่านต้องได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับช่องทางที่ท่านจะรับยานั้นเข้าร่างกายว่า ยาที่ท่านได้รับเป็น ยากิน ยาอม ยาดม ยาทา ยาพ่นหรือยาเหน็บ เพราะการให้ยาถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด แต่ผิดวิธีใช้ ท่านจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยา แต่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานั้นแทน


ถูกเวลา


      เภสัชกรต้องแจ้งท่านว่าจะใช้ยานั้นเวลาไหน ก่อนหรือหลังอาหาร ก่อนนอน หรือใช้เวลาปวด เพราะเวลาที่ใช้ยาต่างกัน อาจได้ผลจากยาไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรใช้ยาตามเวลาที่เภสัชกรแนะนำ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ยาที่รับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่าง ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งก็คือ ก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันที อาจรับประทานพร้อมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารคำแรกก็ได้ เพราะไม่ว่าจะกรณีใด ยาจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารพร้อมกับอาหารที่รับประทานเหมือน ๆ กัน ยาที่ควรรับประทานหลังอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากอาการข้างเคียงของยา เช่น ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ไม่ควรรับประทานขณะท้องว่าง เพราะจะเกิดอาการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร


        ที่สำคัญซองยาที่ท่านได้รับจะต้องระบุรายอะไรเกี่ยวกับตัวยา วิธีใช้ ขนาดที่ใช้ จำนวนที่ใช้ เวลาที่ใช้ และข้อควรระวังอย่างละเอียด และที่สำคัญคือ ต้องมีชื่อของคนที่จะใช้ยานั้นระบุไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ยาผิดคน


       ข้อคิดสำคัญเมื่อมียาเหลือหลังจากที่อาการทุเลาแล้ว ไม่ควรนำยาที่ท่านใช้เหลือไปให้คนอื่นใช้ เพราะยาที่ท่านใช้ได้ผลดีอาจจะเป็นโทษต่อคนที่มีอาการคล้าย ๆ กันก็ได้ และที่สำคัญยานั้นอาจจะเสื่อมสภาพ เนื่องจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การให้คนอื่นใช้ยาที่ท่านใช้เหลือจะเป็นความหวังดีที่จะกลายเป็นบาปโดยไม่ตั้งใจก็ได้


      ดังนั้น อย่าลืมจะเข้าร้านยาทุกครั้ง ต้องจดจำไว้ว่า “ถามหาเภสัชกรและซื้อยาที่ถูก 5 ประการ”


เอกสารอ้างอิง


1. http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=27&menu= (สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2556)


2. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=83 (สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2556)


ผู้เขียน : อาจารย์ ดร. ภก. ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เคล็ดลับ การซื้อยาให้ปลอดภัย”. 2556.


แหล่งที่มา : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/147/เคล็ดลับการซื้อยาให้ปลอดภัย/