"ทำความรู้จักสัญญาณชีพพื้นฐาน 4 ได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ชีพจร กันหน่อย เวลาไปโรงพยาบาลจะได้คุ้นเคย"
สัญญาณชีพ หรือ ชีวสัญญาณ (Vital signs) เป็นอาการที่แสดงสัญญาณถึงการมีชีวิตของมนุษย์ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความปกติของชีวิต
สัญญาณชีพหลัก มี 4 อย่าง ได้แก่
1. อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature ย่อว่า T)
2. ความดันโลหิต (Blood pressure ย่อว่า BP)
3. อัตราการหายใจ (Respiratory rate ย่อว่า RR หรือ R)
4. ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Pulse หรือ Pulse rate ย่อว่า P)
ในบางสถานการณ์อาจมีค่าอื่น ๆ ที่นำมาประเมินร่วมกับสัญญาณชีพ แล้วเรียกว่าเป็น "สัญญาณชีพที่ 5" หรือ "สัญญาณชีพที่ 6" ได้ ค่าอื่น ๆ เหล่านี้ เช่น ระดับความเจ็บปวด ระดับน้ำตาลในเลือด ความอิ่มตัวออกซิเจน เป็นต้น
ค่าสัญญาณชีพพื้นฐานเหล่านี้ แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นกับ อายุ เพศ สภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม ห้วงเวลาขณะที่ตรวจ
การตรวจวัดค่าเหล่านี้ ในเบื้องต้น ก็คือ การตรวจสอบว่าร่างกายมีความผิดปกติไปหรือไม่นั่นเอง ในภาวะปกติสัญญาณชีพอาจเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่หากเมื่อใดพบความผิดปกติมากขึ้น นั่นหมายถึงร่างกายอาจมีปัญหาสุขภาพได้
ลักษณะเบื้องต้นที่สัญญาณชีพสื่อออกมาว่าร่างกายผิดปกติ เช่น ระดับออกซิเจนไม่เพียงพอ ระดับต่ำ ร่างกายเสียน้ำมาก ร่างกายมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกิน การติดเชื้อโรค อัตราการเต้นหัวใจเร็วหรือช้าผิดปกติ เป็นต้น
"เวลาไปโรงพยาบาล ที่คุณพยาบาล ให้ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน ก็คือการวัดสัญญาณชีพ นี่เอง"
1. อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature ย่อว่า T)
อุณหภูมิร่างกายเป็นตัววัดความสมดุลการสร้างความร้อนกับการสูญเสียความร้อนของร่างกาย
มี 2 ชนิด คือ อุณหภูมิในร่างกาย วัดได้จากทางปาก หรือทวารหนัก และอุณหภูมิผิว วัดทางรักแร้หรือหน้าผาก
อุณหภูมิร่างกายมนุษย์ ปกติและคงที่อยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส อาจแตกต่างกันได้ ตามสภาพร่างกาย วัย เพศ ระดับฮอร์โมน การออกกำลังกาย อาหารที่กิน
สภาวะไม่ปกติ
ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 คือ การมีไข้ (Fever, Hyperthermia) เป็นไข้ต่ำ หากสูงระดับ 39.5-40 เรียกไข้สูง เกิน 40.5 เรียกว่าไข้สูงมาก อันตรายมาก ในเด็กอาจชัก ในผู้ใหญ่ อาจเพ้อ หลอนได้ หากสูงถึง 43-45 องศา อาจเสียชีวิตได้ใน 2-3 ชั่วโมง
อุณหภูมิต่ำกว่า 34-35 องศา ถือว่าผิดปกติ การไหลเวียนเลือดจะช้าลงหรือหยุดทำงาน เป็นภาวะอันตรายเช่นกัน
2. ความดันโลหิต (Blood pressure ย่อว่า BP)
ความดันโลหิต คือ แรงดันที่หัวใจต้องทำงานในการสูบฉีดโลหิต หน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท หรือ mm.Hg)
ค่าความดันมี 2 ค่า คือ 1) จังหวะที่หัวใจบีบตัว และ 2) จังหวะที่หัวใจคลายตัว ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัวจะสูงกว่าขณะคลายตัว
ค่าความดันโลหิตปกติ อยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ระดับที่แสดงว่าสุขภาพดี คือ 110/70
3. อัตราการหายใจ (Respiratory rate ย่อว่า RR หรือ R)
คือกระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ร่างกายหายใจนำออกซิเจนเข้าและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป การหายใจมี 2 แบบ คือ หายใจภายนอก คือ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างปอดกับอากาศภายนอก และหายใจภายใน คือ การแลกเปลี่ยนออก ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในระหว่างเซลล์ต่าง ๆในร่างกายกับเส้นเลือด
อัตราการหายใจ ปกติในผู้ใหญ่ อยู่ที่ 20-26 ครั้ง/นาที เด็กวัยรุ่น16–25 ครั้งต่อนาที เด็กแรกเกิด 30-50 ครั้ง/นาที
ผู้ใหญ่ขณะออกกำลังกาย 35–45 ครั้งต่อนาที
4. ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Pulse หรือ Pulse rate ย่อว่า P)
คืออัตราการเต้นของหัวใจ วัดจากการหดและขยายตัวของผนังเส้นเลือด ที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจ จังหวะการเต้นของเส้นเลือดก็คือ จังหวะการเต้นของหัวใจ นั่นเอง
การตรวจชีพจร ทั่วไปจะคลำที่ตำแหน่งเส้นเลือดแดง บริเวณข้อมือด้านนอก จะพบง่ายที่สุด ตำแหน่งอื่น ๆ ก็คลำได้เช่นกัน อาทิ ที่คาง ขมับ ขาหนีบ
อัตราปกติคือ 70-80 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ 90-130 ครั้ง/นาที ในเด็ก
ผู้ใหญ่หากเกิน 100 ครั้ง/นาที หรือต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ
ชีพจรจะเพิ่มขึ้น 7-10 ครั้ง/นาที เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น 0.56 องศา
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : https://healthserv.net/