www.medi.co.th
ไซยาไนด์ คืออะไร?
- ไซยาไนด์ คือสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนไม่ได้ (ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์) จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก ทอง จิลเวลรี่ การทำขั้วโลหะ สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร
- ไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด เช่น เมล็ดของแอพพริคอท (Apricot) และเชอรรี่ดำ (Black cherry) และสารลินามาริน (Linamarin) ซึ่งพบได้ในหัวและใบของมันสำปะหลัง (Cassava) นอกจากนี้กระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ก็สามารถก่อให้เกิดสารไซยาไนต์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
- อันตรายจากสารพิษไซยาไนด์
- ไซยาไนด์สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ทั้งการสัมผัส การสูดดม รับประทาน เป็นต้น อาการแสดงหลังได้รับไซยาไนด์ ตัวอย่างเช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของ ไซยาไนด์ ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ
- ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่สามารถใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน จึงส่งผลกับอวัยวะที่ใช้ออกซิเจนและพลังงานสูง เช่น สมอง และหัวใจ เป็นลำดับแรก หากได้รับสารพิษในขนาดที่มากเพียงพอ สามารถทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการรับสารด้วยวิธีใดก็ตาม
ลักษณะอาการเมื่อถูกสารพิษ
อาการของผู้ได้รับสารพิษอาจมีอาการ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ ชัก เลือดเป็นกรดรุนแรง และเสียชีวิตได้โดยผลกระทบจากการได้รับไซยาไนด์อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
- ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นในทันที เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
- ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
หากสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ควรรับมืออย่างไร ?
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือกับ ไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้
- การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยทำให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน ไซยาไนด์ ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจาก ไซยาไนด์ ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ ช่วยชีวิต (CPR) เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษ
- การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และเดินทางไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา
- สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและทิ้งให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
กรณีที่ท่านรู้ตัวว่าสัมผัสไซยาไนด์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ พบผู้ที่ได้รับพิษไซยาไนด์สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนี้
- หากเกิดจากการสัมผัส รีบถอดชุดที่เปื้อนสารออก หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด
- หากเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง ให้ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง
- หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที
- “ห้ามใช้วิธีเป่าปาก”ควรทำ CPR แทน เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ
- ห้ามล้วงคออาเจียนเนื่องจากไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
“การแก้พิษไซยาไนด์ แพทย์จะให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanateซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamineซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamineขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ