“กรดไหลย้อน” เป็นภาวะระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย และเป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ว่าจะวัยไหน ๆ ก็สามารถเป็นได้ โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่างกรดไหลย้อนและอาการจุกเสียดแน่นท้อง ดังนั้นเพื่อเข้าใจความแตกต่าง เรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการของโรค และการป้องกันดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
โรคกรดไหลย้อน คืออะไร ?
“โรคกรดไหลย้อน” สามารถพบได้ทุกวัย เกิดจากภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองจากกรดและเกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยทั่วไปมักมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ หรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ นอกจากนี้ยังมีอาการที่อาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อนได้ เช่น อาการไอ กล่องเสียอักสบ หอบหืด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ โดยโรคกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหารได้ซึ่งบางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน
ภาวะน้ำหนักเกิน
พฤติกรรมกินแล้วนอนทันที
ทานอาหารรสจัด
รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า
เชื้อแบคทีเรีย
ภาวะความเครียด
การสูบบุหรี่ และการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
อาการโรคกรดไหลย้อน
รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
แสบร้อนบริเวณกลางอก จุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
มีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบไซนัสอักเสบ
มีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด เจ็บหน้าอก
หลังอาหารมื้อหลักมักจะคลื่นไส้อาเจียน
การป้องกันโรคกรดไหลย้อน
ควบคุมน้ำหนัก
ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วนอนทันทีหรือออกกำลังกายหลังอิ่มทันที
หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
ไม่นอนทันทีหลังรับประทานเสร็จ ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
ออกกำลังกายนั่งสมาธิเพื่อลดความเครียด
ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป
อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนนั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นแนวทางการรักษาที่ช่วยให้อาการลดลง และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการรุนแรง แต่ไม่ควรละเลย หากพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษา หากปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ความรุนแรงของโรคมากยิ่งขึ้น
บทความโดย: นพ.วชิรพงศ์ เอกไพบูลย์ แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC )
ที่มา: บางกอก เชน ฮอสปิทอล