โรคอ้วนกับปัญหาการนอนหลับ

ภาวะอ้วนในประชากรภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก คือการที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป ภาวะอ้วนนี้สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ โรคประจำตัว รวมถึงยาที่ใช้รักษาโรค ผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีการสะสมไขมันมากเกินกว่าปกติตามอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและเกิดโรคเรื้อรังหลายประเภท เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ รวมถึงโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นและกลุ่มอาการอ้วนหายใจต่ำได้
                   ผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีไขมันสะสมบริเวณช่องคอและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง แต่ในขณะตื่นกลุ่มกล้ามเนื้อคอหอยซึ่งมีหน้าที่ขยายช่องคอทำงานชดเชยได้จึงไม่เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนนี้ เมื่อนอนหลับกล้ามเนื้อจะเกิดการคลายตัว การทำงานชดเชยของกล้ามเนื้อขยายช่องคอทำได้ไม่เพียงพอทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบขณะหลับ เกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea, OSA) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาในระยะยาวก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ และโรคอื่น ๆ รวมถึงมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย โดยพบว่าความรุนแรงของโรคมักจะเพิ่มขึ้นตามดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ความรุนแรงของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นก็มักจะลดลง
                   ผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีไขมันสะสมบริเวณช่องคอและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง แต่ในขณะตื่นกลุ่มกล้ามเนื้อคอหอยซึ่งมีหน้าที่ขยายช่องคอทำงานชดเชยได้จึงไม่เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนนี้ เมื่อนอนหลับกล้ามเนื้อจะเกิดการคลายตัว การทำงานชดเชยของกล้ามเนื้อขยายช่องคอทำได้ไม่เพียงพอทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบขณะหลับ เกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea, OSA) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาในระยะยาวก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ และโรคอื่น ๆ รวมถึงมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย โดยพบว่าความรุนแรงของโรคมักจะเพิ่มขึ้นตามดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ความรุนแรงของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นก็มักจะลดลง
                  ในผู้ป่วยโรคอ้วนที่สงสัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะทำการวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจการนอนหลับ ซึ่งผู้ป่วยจะมานอนค้างคืนที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับเพื่อติดอุปกรณ์ดูระยะการหลับ การทำงานของระบบหายใจและระบบหัวใจ ระดับออกซิเจนและระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อวินิจฉัยโรค ส่วนผู้ป่วยที่สงสัยกลุ่มอาการอ้วนหายใจต่ำ จะวินิจฉัยโดยการตรวจวัดระดับแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดจากหลอดเลือดแดง ร่วมกับการตรวจการนอนหลับที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับชนิดมีผู้เฝ้า
                 การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นและกลุ่มอาการอ้วนหายใจต่ำนั้น นอกจากการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรืออุปกรณ์อื่นเพื่อรักษาความผิดปกติของการหายใจขณะหลับแล้ว การลดน้ำหนักก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงหรืออาจหายขาดได้ เมื่อดัชนีมวลกายลดลง ความรุนแรงของโรคจะลดลง แรงดันของเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกที่ใช้ก็ลดลง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะดีขึ้นจนสามารถหยุดใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ โดยมีข้อมูลว่า การลดน้ำหนักตัวได้ร้อยละ 25-30 สามารถทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากกลุ่มอาการอ้วนหายใจต่ำได้
                การลดน้ำหนักนั้นต้องทำให้ได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้ป่วยเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นรวมถึงผลดีของการลดน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อันประกอบด้วย
1) การรับประทานอาหารพลังงานต่ำและไขมันต่ำ โดยการรับประทานอาหารพลังงาน 1,000-1,500 แคลอรีต่อวัน หรือลดพลังงาน 500-750 แคลอรีจากที่เคยรับประทาน และให้มีสัดส่วนของไขมันน้อยกว่าร้อยละ 15-20 ของพลังงานที่รับประทาน

2) การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
3) การใช้ยาลดน้ำหนัก
4) การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ทั้งนี้ อาจต้องปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อวางแผนการลดน้ำหนัก การใช้ยา และการผ่าตัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย


ข้อมูลจาก
นพ.วีรวัชร น้อมสวัสดิ์
โรงพยาบาลเจ้าพระยา