ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นต้องกินหรือไม่?

ยาถ่ายพยาธิ
ยาทีมีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิซึ่งถือเป็นปาราสิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยทั่วไปควรเลือกชนิดของยาถ่ายพยาธิที่กินให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย
โดยทั่วไปพยาธิจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.พยาธิตัวกลม เช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด พยาธิสตรองจิลอยด์และพยาธิเส้นด้าย

2.พยาธิตัวแบน เช่น พยาธิตัวตืด
3.พยาธิใบไม้


ประเภทยาถ่ายพยาธิ
1.อัลเบนดาโซล (Albendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลมและตัวตืดรวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือแพ้ยา
ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
2.มีเบนดาโซล (Mebendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลม และ พยาธิตัวตืดหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดท้อง ท้องเดิน และ ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
3.ปิเปอร์ราซีน (Piperazine) มีฤทธิ์ต่อพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้ายโดยทำให้กล้ามเนื้อของพยาธิอ่อนแรง ผลข้างเคียง ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจท้าให้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ้ารับประทานเกินขนาดมาก ๆ อาจท้าให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติได้ ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาถ่ายพยาธิไพแรน เทล พาโมเอต
4.ไพแรนเทล พาโมเอต (Pyrantel pamoate) มีฤทธิ์ต่อพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือนและปากขอ ทำให้พยาธิเคลื่อนไหวไม่ได้ ผลข้างเคียง ยานี้อาจท้าให้คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับปิเปอร์ราซีน
5.นิโคลซาไมด์(Niclosamide) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย
6.พลาซิควอนเทล (Praziquantel) มีฤทธิ์ต่อพยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคัน ง่วงนอน
7.ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ใช้รักษาพยาธิตัวกลม พยาธิตัวจี๊ด และสตรองจิลอยด์ ผลข้างเคียง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มึนงง ผื่นคัน ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
 


จะเห็นได้ว่ายามีหลายชนิด รวมทั้งขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยาแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปสำหรับโรคพยาธิแต่ละชนิด ดังนั้นอย่าหลงเชื่อโฆษณาในสื่อต่างๆที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ากินยาเม็ดเดียวครั้งเดียวสามารถฆ่าพยาธิได้ทุกชนิดควรรับประทานยาถ่ายพยาธิเมื่อแน่ใจว่าเป็นโรคพยาธิเท่านั้นโดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง


ข้อควรระวังการใช้ยาถ่ายพยาธิ
 ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปีหรือเพียงเพราะมีรูปร่างผอมเนื่องมาจากความผอมอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ กรรมพันธุ์ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหาร รวมถึงการมีโรคบางอย่างแอบแฝงในร่างกาย ควรจะหาโอกาสปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่าการซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง โดยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจอุจจาระเพื่อดูไข่พยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งจะตรวจพบลักษณะเฉพาะที่จะบอกได้ว่าเป็นพยาธิชนิดใดและจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้การไม่ซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเองอาจช่วยลดความเสี่ยงในการแพ้ยา การเกิดผลข้างเคียงต่างๆและผลต่อตับจากยา และถ้าต้องรับประทานยา ควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนรับประทานยาทุกครั้งและปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนซึ่งความผิดพลาดในการรับประทานยาถ่ายพยาธิที่พบได้บ่อย คือการไม่ได้กินยาระบายหลังจากกินยาถ่ายพยาธิตัวตืดแล้ว 2 ชม. เพื่อกำจัดพยาธิตัวเต็มวัยและไข่พยาธิไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาในลำไส้อีกและอาจทำให้เกิดอันตรายจากตัวอ่อนของพยาธิที่ออกจากไข่และชอนไชไปสะสมที่อวัยวะต่างๆคล้ายเม็ดสาคู( cysticercosis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมอง


โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีพยาธิในร่างกายจะมีอาการผิดปกติตามอวัยวะที่มีพยาธิอาศัยอยู่ เช่น พยาธิที่อยู่ในทางเดินอาหาร อาจทำให้มีอาการหิวบ่อย น้ำหนักลด ซีด ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย คันบริเวณทวารหนัก พยาธิที่ไชอยู่ใต้ผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นคันหรือมีก้อนบวมแดงที่ย้ายที่ไปเรื่อยๆ ส่วนพยาธิใบไม้ในตับทำให้มีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ในขณะที่พยาธิใบไม้ในปอดทำให้มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือดได้ พยาธิที่ไชไปที่กล้ามเนื้อทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และถ้าพยาธิไชไปที่สมองจะทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว ชัก ได้ เป็นต้น
เน้นการป้องกันการติดพยาธิมากกว่าการคอยกินแต่ยาถ่ายพยาธิ


โรคพยาธิเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของบุคคลและสามารถป้องกันได้โดยส่งเสริมให้มีสุขลักษณะนิสัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนหรือหลังรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน ไม่กินของที่ตกบนพื้นแล้ว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือหรือสุกๆดิบๆ รวมถึงการล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค ควรสวมรองเท้าเวลาออกนอกบ้านทุกครั้ง


ข้อมูลโดย
ผศ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล