กระดูกสันหลังเสื่อม ไม่ต้องรอให้สูงวัยก็เป็นได้

กระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากสาเหตุใด
กระดูกสันหลังเสื่อม คือ การที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จากการที่กระดูกสันหลังโค้งงอเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง และเสียความยืดหยุ่นไป ซึ่งจะการเกิดกระดูกสันหลังเสื่อมสามารถเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามอายุการใช้งาน
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างที่ถูกถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม เพราะในแต่ละคนอาจมีโครงสร้างที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสื่อมเร็ว และอาจเกิดการทรุดตัวของกระดูกได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะยังมีอายุน้อยอยู่
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามการใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกายเท่าที่ควร


กระดูกสันหลังเสื่อม ส่วนใหญ่จะพบที่ส่วนใด
กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม จะมีอาการปวดต้นคอ ปวดสะบัก หรือปวดศีรษะ โดยถ้ามีการกดทับรากประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขน แขนชา แขนอ่อนแรงได้ ซึ่งอาจเกิดการกดทับที่ไขสันหลังอาจส่งผลให้เกิดอาการแขนขา อ่อนแรง การใช้งานมือผิดปกติไม่เหมือนเดิม หรืออาจเดินลำบาก เนื่องจากการประสานงานของร่างกายผิดปกติไป
กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม จะมีอาการปวดหลังด้านล่าง ซึ่งเมื่อมีการกดเบียดรากประสาทจะมีอาการปวดร้าวลงขา ขาชา หรือขาอ่อนแรง แต่ในกรณีที่การกดทับมากขึ้นจนโพรงไขสันหลังตีบแคบ อาจส่งผลกระทบต่อการเดินได้ เช่น การเดินในระยะทางที่สั้นลง หรือต้องหยุดพักก่อนที่จะเดินต่อ และหากเกิดการกดทับรุนแรงมาก จะส่งผลให้มีผลต่อระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะได้

อาการกระดูกสันหลังเสื่อม
ปวดหลังร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังคอเสื่อมจนกดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน เมื่อเป็นมากจะยกแขนได้ลำบาก และรู้สึกชาตลอดเวลา


ปวดคอร้าวลงแขน อาการปวดที่อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกหรือกระดูกต้นคอเสื่อม และเกิดการกดทับเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน หากมีอาการมากจะส่งผลให้ยกแขนลำบาก และรู้สึกแขนชาตลอดเวลา


เคลื่อนไหวได้น้อยลง เช่น หลังแข็งตึง ก้มเงยลำบาก จากความหยืดหยุ่นที่ลดลง และข้อที่ขยับได้น้อยลง ซึ่งอาจใช้เวลาในการขยับนานมากกว่าปกติ
ลักษณะของโครงสร้างของหลังเปลี่ยนไป และหากเริ่มเปลี่ยนไปมากๆ ก็อาจเกิดการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังได้


เพราะฉะนั้น หากคุณมีอาการปวดหลังเป็นประจำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของโรคกระดูกสันหลังที่ควรตรวจรักษาให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

การรักษากระดูกสันหลังเสื่อม
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการก้มเงย การยกของหนัก หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก ลดน้ำหนัก
2. การรักษาด้วยการให้ยาลดปวด ยาต้านอักเสบ และยาลดปวดเส้นประสาท ซึ่งจะเป็นยาที่มีความจำเป็นเฉพาะในกรณีที่มีอาการปวดมาก หรือมีอาการปวดตามเส้นประสาท
3. การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน การดึงหลังหรือคอ เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเป็นเรื้อรังในระยะยาวควรที่จะลดน้ำหนัก เพื่อลดอาการปวด และบริหารกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังให้แข็งแรง
4. การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปวดตามข้อบ่งชี้ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นจากการรักษา ซึ่งจะสามารถลดอาการปวดได้ตรงจุดมากขึ้น
5. การผ่าตัด จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะพิจารณาใช้ในการรักษา โดยจะคำนึงถึงลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็นหลักเช่น อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษา มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา เพื่อช่วยยกจุดกดทับ และเสริมความมั่นคงให้กระดูกสันหลังได้โดยการใส่เหล็กดามไว้ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีหลักๆ คือ
การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดแบบเปิดบริเวณกล้ามเนื้อหลัง โดยแพทย์จำเป็นต้องตัดกระดูกบางส่วนออกเพื่อให้เข้าถึงหมอนรองกระดูกที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลัง วิธีนี้จะทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะยังมีอาการปวดหลังต่ออีกระยะหนึ่งและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบมาตรฐาน
การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นจุดที่ต้องทำการผ่าตัดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการผ่าตัดที่ไม่ต้องทำการเปิดปากแผลใหญ่ จึงช่วยให้เนื้อเยื่อโดยรอบไม่ได้รับความกระทบกระเทือน หรือได้รับความกระทบกระเทือนน้อยกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดที่ขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตร ฟื้นตัวเร็ว แผลหายไว มีอาการเจ็บปวดน้อยหลังผ่าตัด และสามารถกลับมาเคลื่อนไหว หรือใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น


เพราะฉะนั้น หากเรารู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงก็ควรรีบปรับพฤติกรรม หรือหากพบอาการผิดปกติดังกล่าวก็อย่ารอช้าที่จะรีบเข้ามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยให้อาการรุนแรงอาจก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้


ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.เปาโล