มารู้จักยาแก้แพ้แบบง่วง กับแบบไม่ง่วงกัน

เมื่อเข้าสู่ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หลายคนเริ่มไม่สบายจนต้องหายาแก้แพ้มารับประทาน ยาแก้แพ้มีกี่ชนิด และมีสรรพคุณเหมือนกันหรือไม่ ? วันนี้เรามีคำตอบ มาติดตามกัน
ยาแก้แพ้ (Antihistamine) โดยทั่วไปจะใช้บรรเทาอาการแพ้อากาศ น้ำมูกไหล อาการคัน ผื่นขึ้นเนื่องจากแมลงกัดต่อย สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่


1. ยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม (Conventional Antihistamines)
ใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ ที่มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล ผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาการคันผื่นขึ้นเนื่องจากแมลงกัดต่อย สัมผัสพืชพิษ หรือสัมผัสสารเคมีบางอย่าง นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ ยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาทได้ จึงทำให้ผู้ที่ใช้ยามีอาการง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรหรือการขับรถยนต์ ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ นอกจากนี้ยังอาจพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะคั่ง และหัวใจเต้นเร็ว
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)


2. ยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (Non-Sedating Antihistamines)
ยากลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการต่าง ๆ ได้คล้ายกับยากลุ่มดั้งเดิม แต่อาจให้ผลบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการเมารถ เมาเรือได้ไม่ดีเท่ากลุ่มดั้งเดิม ยาในกลุ่มนี้จะผ่านเข้าสมองได้น้อยมากจึงทำให้ง่วงซึมน้อยกว่า และอาจพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะคั่ง และหัวใจเต้นเร็ว น้อยหรือไม่พบเลย
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) และลอราทาดีน (Loratadine)


เนื่องจากแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน จึงไม่ได้หมายความว่ากินยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงแล้วจะไม่ทำให้เกิดอาการง่วงเลย ดังนั้น หากต้องกินยาแก้แพ้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักร หรือหลีกเลี่ยงการขับรถเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง


ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ข้อมูลอ้างอิงจาก
ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง กินแล้วไม่ง่วงจริงหรือไม่
ยาแก้แพ้มีกี่ชนิด และมีสรรพคุณเหมือนกันหรือไม่ ?
ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ? (mahidol.ac.th)
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก (antihistamine) - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง ไม่ง่วงจริงหรือ? | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)