กรมการแพทย์แนะ รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยชักจากไข้สูง

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการชักจากไข้สูง เป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ซึ่งสามารถพบได้ตลอดทั้งปี เพราะเด็กเล็กมีโอกาสที่จะมีไข้สูงได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้ออกผื่น หรือท้องเสีย เมื่อมีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ในเด็กเล็กที่มีอายุ ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 5-6 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปีแรก จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดไข้ชักได้ ซึ่งพบมากในช่วง 1-2 วันแรกของการมีไข้ ข้อควรปฏิบัติสำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ที่มีลูกน้อยในช่วงวัยดังกล่าว แล้วมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องพยายามตั้งสติ กรณีเด็กตัวเล็กและสามารถจัดท่าขณะที่มีอาการชักได้ ให้จัดท่านอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งและหลีกเลี่ยงการหนุนหมอน การจัดท่าทางแบบนี้จะช่วยป้องกันการสำลักได้ และห้ามใช้อุปกรณ์หรือวัสดุต่างๆ รวมถึงนิ้วมือของผู้ปกครอง ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย งดเว้นการป้อนยาหรือน้ำทางปากในขณะที่มีอาการชักหลีกเลี่ยงการพยายามงัดง้างถ่างกดแขนขาของผู้ป่วยขณะมีอาการชัก และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือโทร 1669 ระหว่างนั้นผู้ปกครองพยายามจับเวลาช่วงที่มีอาการชักเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ สังเกตว่าผู้ป่วยมีปากและสีผิวสีเขียวคล้ำร่วมด้วยหรือไม่ ร่วมกับพยายามเช็ดตัวผู้ป่วยตลอดทางระหว่างนำส่งโรงพยาบาล โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเย็น จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักจากไข้สูงนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การพยายามลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย การเช็ดตัวลดไข้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาเบื้องต้น โดยควรถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้หมด ใช้ผ้าขนนุ่มชุบน้ำให้ชุ่มเช็ดชโลมให้ทั่วทั้งตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ครอบคลุมถึงซอกแขน ซอกขาและข้อพับต่างๆ เช็ดซ้ำหลายๆ ครั้ง จนกว่าไข้จะลดลง หากผู้ป่วยรู้สึกตัวเป็นปกติแล้ว ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลได้ และพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับน้ำเพียงพอ และเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถจัดการกับภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้


อาการไข้ชักในผู้ป่วยบางรายอาจจจะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ได้ ดังนั้นในครอบครัวที่ผู้ปกครองเคยมีประวัติไข้ชัก ก็จะทำให้ลูกน้อยมีโอกาสชักเวลามีไข้สูงเพิ่มมากขึ้นได้ โดยอาการชักเนื่องจากไข้นี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การเรียนรู้ หรือพัฒนาการของผู้ป่วย ยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติจากโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้เพื่อตรวจยืนยันสาเหตุของอาการชัก และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการดูแลรักษา ตลอดจนเพื่อป้องกันการชักซ้ำในโอกาสต่อไป



2 พฤษภาคม 2567