ยาทากันยุง เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำประชาชนเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาทากันยุง เนื่องจากสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงมีองค์ประกอบสำคัญทั้งที่เป็นสารสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติ ปัจจุบันยาทากันยุงสามารถหาซื้อได้ทั่วไป มีให้เลือกทั้งแบบเป็นครีม โลชั่น สเปรย์ หรือแป้งกันยุง ซึ่งยาทากันยุงจัดเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันการโดนยุงกัดและโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำโรค


นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยุงนั้นเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อที่รุนแรงอยู่หลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง ชิคุนกุนยา และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น สำหรับวิธีการทายาทากันยุงโดยทั่วไปสามารถทาที่ผิวหนังได้เลย แต่ไม่ควรทาบริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก รักแร้ และบริเวณที่เป็นแผล หรือจะใช้พ่นที่เสื้อผ้าก็ได้ ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่มียากันยุงและยากันแดดผสมอยู่ในขวดเดียวกัน เนื่องจากกันแดดต้องทาซ้ำบ่อย จึงอาจทำให้ได้รับสารทากันยุงในปริมาณที่มากเกินไป ในกรณีที่จำเป็นต้องทาครีมกันแดดให้ทาครีมกันแดดก่อนแล้วตามด้วยยาทากันยุงทีหลัง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆที่ช่วยป้องกันยุงได้ เช่น การใส่เสื้อผ้าปกปิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้ารองเท้าผ้าใบแทนการสวมรองเท้าแตะ ไม่ฉีดน้ำหอมหรือใช้สบู่ที่มีกลิ่นหอมเพราะเป็นกลิ่นที่ยุงชอบ และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


ดร. แพทย์หญิงชนิศา เกียรติสุระยานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติม สารสังเคราะห์ที่ใช้บ่อยๆในยาทากันยุงที่สำคัญมี 4 ชนิด ได้แก่ 1.Diethyltoluamide (DEET) เป็นส่วนประกอบหลักของยาทากันยุง มีกลิ่นฉุนที่ยุงไม่ชอบ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดได้ยาวนาน แต่อาจระคายเคืองต่อดวงตาและเยื่อบุ DEET ในความเข้มข้นสูงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท ความเข้มข้นที่ปลอดภัยในการใช้ของ DEET อยู่ระหว่าง 10-30% ซึ่งสามารถป้องกันยุงได้นานถึง 6-13 ชั่วโมง มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กได้ ข้อแนะนำสำหรับการใช้ในเด็ก DEET ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 30% ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 50% และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับความเข้มข้นสูงๆ เช่น 95% 2.Picaridin เป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับ DEET แต่มีข้อดีคือ กลิ่นไม่ฉุน ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ระเหยได้ช้ากว่า DEET จึงสามารถกันยุงได้เป็นระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของ Picaridin ยังไม่มีจำนวนมากเท่า DEET ซึ่ง Picaridin สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรและเด็กได้ โดยความเข้มข้นที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 10-20% สามารถป้องกันยุงได้นาน 8-14 ชั่วโมง 3.P-menthane-3,8-diol (PMD) or oil of lemon eucalyptus เป็นสารที่ได้มาจากน้ำมันสกัดจากใบของต้น lemon eucalyptus (eucalyptus oil) มีการศึกษาพบว่า PMD 30% สามารถป้องกันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ DEET 5-10% แต่ป้องกันได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4-6 ชั่วโมง จึงต้องอาศัยการทาบ่อยๆกว่าสองสารแรก เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สาร PMD ยังมีค่อนข้างน้อย FDA และ CDC จึงไม่แนะนำให้ใช้ PMD หรือ Eucalyptus oil ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี 4.Ethyl butylacetylaminopropionate (IR3535) มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET และออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า DEET โดย IR3535 มีข้อจำกัดในการใช้เช่นเดียวกับ DEET คืออาจระคายเคืองต่อดวงตาและเยื่อบุ แต่ในด้านอื่นๆถือว่าปลอดภัยในการใช้ ข้อแนะนำสำหรับการใช้ในเด็ก ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นมากกว่า 12.5% และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สำหรับความเข้มข้นเท่ากับ หรือน้อยกว่า 12.5% นอกจากนี้สำหรับเด็กเล็ก ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน ควรใช้วิธีป้องกันโดยวิธีอื่น เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า กางมุ้ง เป็นต้น