กระแดด

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับกระแดด ซึ่งกระแดดเป็นหนึ่งในรอยโรคที่เกิดจากแสงแดด โดยเป็นรอยโรคที่พบได้บ่อยถึง 90% ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งจะพบมากในบริเวณที่เจอแสงแดด (sun-exposed area) เช่น ใบหน้า มือ หลังแขน ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวล และส่งผลถึงรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระแดดนั้นโดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกายในระยะยาว แต่หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระ อาจจะต้องแยกโรคจากโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด เช่น Pigmented basal cell carcinoma หรือ Lentiginous melanoma เป็นต้น โดยการแยกโรคนั้นจำเป็นจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา


นายแพทย์ทนงเกียรติ เทียนถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติม จากแสงคลื่นช่วงแสง Ultraviolet และ ช่วงแสงความร้อน ส่งผลทำให้เซลล์เม็ดสีเมลานินที่อยู่ในผิวหนังชั้นบนเกิดการขยายตัวมีขนาดใหญ่มากขึ้น และมีสีเข้มขึ้น ทำให้รอยโรคมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขอบชัด ลักษณะเป็นวงรี อาจมี ขนาดใหญ่ถึง 6 เซนติเมตร ซึ่งพบได้บ่อยที่บริเวณใบหน้า ไหล่ แขน และหลังมือ ในรายที่มีประวัติเจอแสงแดดมาเป็นเวลานานๆ หรือเป็นโรคแพ้แสงบางชนิด สำหรับการรักษากระแดดนั้นมีวิธีการรักษา ดังนี้ 1.การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ (Topical therapy) กลุ่มยาทาลดรอยดำ เช่น hydroquinone, tretinoin, adaptable สามารถลดรอยดำได้ รวมถึงการใช้กรดลอกผิว เช่น Trichloroacetic acid (TCA) ในความเข้มข้นที่ต่างๆกัน ซึ่งมีฤทธิ์ในการลอกผิวหนังชั้นบน พบว่าได้ผลดีใน การรักษากระแดดรวมถึงรอยโรคจากแสงแดดชนิดอื่นๆ 2.การรักษาด้วย Physical Therapy เช่น การใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen), เลเซอร์เม็ดสี กลุ่ม Q-switched Nd:YAG laser, Q-switched Ruby laser, Q-switch Alexandrite laser โดยการใช้ไอเย็น และเลเซอร์รักษานั้นอาจต้องทำหลายครั้ง แต่ละครั้งจะมีแผลที่ตกสะเก็ด หากเจอแสงแดดและดูแลแผลไม่ถูกต้องอาจ ทำให้เกิดรอยดำมากขึ้นหรือทำให้เกิดรอยขาวได้ การรักษาส่วนใหญ่จะสามารถทำให้รอยโรคจางลงหรือหายไปได้ชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะมีสีที่จางลงมากกว่าก่อนการรักษา หากได้รับการรักษาและการดูแลแผลหลังการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนทำการรักษา ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม


5 มิถุนายน 2567