กรมสุขภาพจิต แนะวิธีสังเกตสัญญาณโกรธที่อาจลุกลามไปสู่ความรุนแรง

กรมสุขภาพจิต แนะวิธีสังเกตสัญญาณโกรธที่อาจลุกลามไปสู่ความรุนแรง เน้นผู้ที่สามารถหยุดยั้งอารมณ์โกรธได้ดีที่สุดคือตนเอง หากเลือกใช้ 1 ใน 9 วิธีจัดการความโกรธด้วยตนเอง


วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) กรมสุขภาพจิต ห่วงใยสถานการณ์ความรุนแรงทุกมิติในสังคม ย้ำชัดก่อนจะป้องกันโดยผู้อื่นการรู้เท่าทันและหาทางออกด้วยตนเองผ่านการจัดการความโกรธ จะสามารถยับยั้งความสูญเสียจากความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเผยไม่ควรปล่อยให้ความโกรธยังคงอยู่กับตนเอง แม้ไม่ได้ส่งผลต่อผู้อื่นแต่นำไปสู่ผลทางสุขภาพจิตระยะยาว


นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาความเครียดในที่ทำงาน ปัญหาความเครียดในครอบครัว ในความสัมพันธ์ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้บางคนเกิดความกดดันมีความเครียด มีความโกรธ คนที่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่คนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ก็อาจแสดงอารมณ์โกรธและใช้ความรุนแรงทั้งต่อคนที่รัก คนใกล้ชิดแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงได้ ซึ่งความรุนแรงที่กระทำล้วนเกิดความทุกข์ทางใจ และเป็นบาดแผลทางด้านจิตใจให้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมทั้งคนใกล้ชิดที่รับรู้เหตุการณ์ ซึ่งวิธีที่จะตัดไฟได้ตั้งแต่ต้นลม คือการรู้เท่าทันความโกรธของตนเอง ซึ่ง 9 สัญญาณเตือนอารมณ์ "โกรธ" ได้แก่ 1.หน้าแดง 2.คิ้วขมวด 3.กัดฟัน 4.หัวใจเต้นแรงถี่ 5.กำมือแน่น 6.รู้สึกกล้ามเนื้อเกร็ง7.พูดเสียงดังขึ้น 8.อารมณ์โกรธหรือเกรี้ยวกราดมากกว่าปกติ 9.หายใจถี่ขึ้น ซึ่งถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ควรรีบจัดการอารมณ์โกรธหรือออกจากสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อลดความรุนแรงที่อาจจะลุกลามตามมา การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม มาสำรวจสุขภาพใจได้ที่ Mental Health Check In (https://checkin.dmh.go.th/)


นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง การปรับจิตใจเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ คือสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการด้วยเช่นกัน เพราะหากยังคงมีอารมณ์โกรธรุมเร้าถึงแม้ไม่แสดงออก แต่ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตของตนเอง เพราะความโกรธนำไปสู่ความเครียดสะสม ซึ่งวิธีจัดการความโกรธ ประกอบด้วย
1.ตั้งสติ มีสติอยู่ตลอดเวลา
2.ประเมินหรือเช็คอินความรู้สึกโกรธของตนเอง โดยสังเกตอาการของร่างกายและอารมณ์เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้น กล้ามเนื้อเริ่มเกร็ง เหงื่อไหล หน้าแดงหรือรู้สึกร้อน
3.หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ มีสติอยู่กับลมหายใจ
4.นับเลข 1 - 10......... -100 เพื่อปล่อยใจให้จดจ่อเรื่องอื่นแทน
5.ให้พักหรือหยุดการเผชิญหน้าชั่วคราว
6.ใช้อารมณ์ขันหรือนึกถึงเรื่องราวที่สนุกสนานดับความโกรธ
7.หาทางระบายออก เช่น พูดระบายกับคนที่พร้อมจะรับฟัง ออกกำลังกาย
8. ถ้าคิดอะไรไม่ทัน ให้เดินหลบออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแพ้ แต่คือคนชนะที่คุมใจตัวเองได้
9. เมื่อหายโกรธ ให้ทบทวนเหตุการณ์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง


นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การควบคุมอารมณ์ คือการกระทำที่ตั้งใจเปลี่ยนความรุนแรงทางอารมณ์ในขณะที่เกิดขึ้น ให้มีอารมณ์หรือความรู้สึกที่เบาบางลง สำหรับบางคนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าคนอื่นๆ เพราะมีความฉลาดทางอารมณ์สูง แต่บางคนก็มีการควบคุมอารมณ์ที่ยากยิ่ง ทำให้บางครั้งการมีอารมณ์ในแง่ลบ โกรธ โมโห ทำให้เกิดการเตลิด และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย หากต้องการปรึกษาปัญหาการควบคุมอารมณ์โกรธ มีช่องทางหลายวิธี ได้แก่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และยังมีบริการอีกหลากหลายจากภาคีเครือข่ายทางสุขภาพจิตอื่นๆ ได้แก่ แอปพลิเคชันอูก้า (Ooca) แหล่งกำลังใจที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เยาวชนและชุมชนในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่การให้คำปรึกษาและรับฟังจากจิตอาสา ผ่านแอปพลิเคชัน Sati App ได้อีกช่องทางอีกด้วย


7 มิถุนายน 2567