หน้าฝน เดินลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยง 'โรคเมลิออยด์' หรือ 'โรคไข้ดิน' เกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มีไข้สูง ปวดข้อปวดกระดูก

กรมควบคุมโรค เตือน!! เดินลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงโรคไข้ดิน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน แนะสวมรองเท้าบูท ล้างเท้าบ่อย ๆ


“โรคเมลิออยด์” หรือ “โรคไข้ดิน” เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อ 1 – 21 วัน จะมีอาการป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน


อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยและรักษา


การป้องกันโรคนี้ ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท หรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้าไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำทันทีหลังจากลุยน้ำ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย

ข้อมูลจาก   https://www.thaihealth.or.th/?p=366977