5 ข้อต้องรู้ สูดดม “ฝุ่นใยหิน” เสี่ยงโรคร้ายในอนาคต


หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีฤดูใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ ฤดูฝุ่น ซึ่งจะมาเป็นประจำในช่วงต้นปี โดยส่วนใหญ่ก็อาจเข้าใจกันแล้วว่า ฝุ่นหนาๆ ที่ปกคลุมสภาพอากาศอยู่คือฝุ่น PM 2.5 แต่รู้ไหมว่ายังมีฝุ่นอีกหนึ่งชนิดที่น่ากลัวยิ่งกว่า และแฝงตัวอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ถึงแม้ไม่ใช่ฤดูของฝุ่น PM 2.5 ก็ตาม ซึ่งฝุ่นที่ว่านี้เราเรียกกันว่า “ฝุ่นใยหิน” เป็นฝุ่นที่มีอณูเล็กมาก และเราอาจสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นเราควรต้องรู้ว่า ฝุ่นใยหิน คืออะไร และมีอันตรายอย่างไรต่อสุขภาพและชีวิต

1. ‘ฝุ่นใยหิน’ เกิดจากแร่ใยหิน

ฝุ่นใยหิน เกิดจาก แร่ใยหิน หรือที่เรียกกันว่า แอสเบสตอส (asbestos) มีส่วนประกอบหลัก คือ ไฮดรัสซิลิเกต ที่มีลักษณะเป็นเส้นใย โดยแร่ใยหินจะมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานต่อความร้อน และสารเคมี ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ท่อซีเมนต์ กระเบื้องหลังคา ผ้าเบรก คลัตช์ และวัสดุกันความร้อนอื่นๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ จึงทำให้เสี่ยงต่อการสัมผัสแร่ใยหินหรือสูดดมฝุ่นใยหินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

2. แร่ใยหินเจือปนในอากาศ

หากคิดว่าผลกระทบจากแร่ใยหินเป็นเรื่องไกลตัว คุณกำลังคิดผิด เพราะแร่ใยหินเกิดได้หลายกรณี เช่น การรื้อถอนอาคารเก่าๆ หรือวัสดุก่อสร้างภายในบ้านเกิดการชำรุด ซึ่งวัสดุเหล่านี้อาจมีส่วนประกอบของแร่ใยหินเจือปนอยู่ และเมื่อชำรุดก็อาจทำให้เกิดฝุ่นปะปนไปในอากาศได้

3. ส่งผลต่อร่างกายรุนแรง

ฝุ่นใยหิน เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อร่างกายได้อย่างรุนแรง ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสและสูดดมฝุ่นใยหินหรือแร่ใยหิน เป็นได้ทั้ง โรคปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และทำให้เกิดโรคร้ายได้อีกหลายๆ โรค โดยในช่วงแรกที่มีการสัมผัสหรือสูดดมเข้าไป เราอาจจะไม่รู้ตัว และมิอาจหาสาเหตุได้ว่าอาการที่เป็นเกิดจากสิ่งใดในระยะเริ่มต้น ซึ่งระยะเวลาในการสูดดมหรือสัมผัสแร่ใยหิน จะใช้เวลายาวนาน 20-30 ปีจึงปรากฏอาการ ทำให้กว่าจะรู้ว่าร่างกายมีผลกระทบจากฝุ่นใยหินก็เมื่อมีอาการหนักแล้ว

4. ไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน

ที่น่าตกใจคือประเทศไทยยังมีการนำแร่ใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศมากว่า 40 ปี ซึ่งประเทศไทยมีมติเกี่ยวกับมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหินตั้งแต่เมื่อราวๆ 13 ปีที่ผ่านมา โดยมีแนวทางบริหารจัดการ การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในวัสดุต่างๆ ที่หมดอายุการใช้งานในชุมชน และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย 

 

5. แนวทางป้องกันด้านสุขภาพ

หากมีสิ่งที่ต้องซ่อมแซมภายในบ้าน โดยเฉพาะบ้านเก่า แนะนำให้ย้ายผู้อยู่อาศัยออกจนกว่าจะซ่อมเสร็จและทำความสะอาดแล้ว และให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ซ่อมแซม ใช้วิธีเปียก (wet method) เพื่อลดการเกิด/ฟุ้งของฝุ่น นอกจากนี้ การทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะผู้ที่มีการสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง เช่น ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ก็มีส่วนช่วยไม่ให้บุคคลภายในบ้านและครอบครัวได้รับสารจากแร่ใยหินไปด้วย

แต่ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เคยกล่าวไว้ว่า no safe use of chrysotile/ asbestos ไม่มีมาตรการป้องกันใดที่สามารถช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากโรคร้ายที่เกิดจากแร่ใยหินได้ มากไปกว่ามาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเปลี่ยนแปลงได้ เพียงหันมาใช้วัสดุอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบจากแร่ใยหิน โดยปัจจุบันเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนแร่ใยหินได้มากขึ้นแล้ว