กรกฎาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งรังไข่...ภัยเงียบของผู้หญิง

มะเร็งรังไข่...ภัยเงียบของมะเร็งในสตรี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี พบได้บ่อยเป็นอันดับสามของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มะเร็งรังไข่ระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่จะพบเจอก็เมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลามทำให้อัตราการรอดชีวิตต่ำ หญิงไทยทุกคนจึงไม่ควรนิ่งนอนใจหมั่นเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รังไข่เป็นหนึ่งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มีหน้าที่สร้างไข่และฮอร์โมนเพศหญิง มะเร็งรังไข่เกิดได้ทุกช่วงวัย โดยมากมักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี จากสถิติจากข้อมูลมะเร็งใน Cancer In Thailand Vol.X ปี 2016 – 2018 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรังไข่รายใหม่ปีละ 2,902 ราย มะเร็งรังไข่พบได้บ่อยเป็นอันดับสามรองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการที่ชัดเจน อาการที่พบทั่วไป ได้แก่ อาการท้องอืด แน่นท้อง รับประทานอาหารได้น้อยลง ท้องโตกว่าปกติ แต่หากมะเร็งมีการลุกลามแล้วอาจจะคลำได้ก้อนในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน จากการตรวจทางหน้าท้องหรือการตรวจภายใน หรือตรวจพบน้ำในช่องท้อง ทั้งนี้เนื่องจากมะเร็งรังไข่เป็นโรคที่มักจะวินิจฉัยได้ในระยะที่ลุกลามแล้ว จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีและมีอัตราการรอดชีวิตโดยรวมต่ำ


แพทย์หญิงวรางคณา โกละกะ แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่มีหลักฐานเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของยีนส์ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยจะพบในกลุ่มผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังพบมากในสตรีที่มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า มีบุตรยาก มีภาวะอ้วน รวมถึง ผู้ที่สูบบุหรี่ จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่เหมาะสม และจำเพาะเจาะจงในสตรีทั่วไป อย่างไรก็ตามแนะนำให้สตรี ทุกคนได้รับการตรวจภายในประจำปี แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภายในหรือตรวจภาพถ่ายวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติม


การรักษามะเร็งรังไข่ในปัจจุบันทำได้โดยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกและเพื่อกำหนดระยะโรค บางรายอาจต้องรักษาเพิ่มเติมด้วยการให้เคมีบำบัดหรือยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ตามข้อบ่งชี้ หลังจากนั้นจึงตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพรวมทั้งการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


 


25 กรกฎาคม 2567