สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์กล่าว โรคด่างขาวเกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งสาเหตุหลักนั้นเกิดจากการลดลงของเซลล์ผลิตเม็ดสีที่ผิวหนัง รอยโรคของด่างขาวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย การรักษานั้นสามารถทำได้โดยการใช้ยา มีทั้งยารับประทาน และยาทา ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นซึ่งจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาพิจารณา และความรุนแรงของโรค
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รอยโรคของด่างขาว ส่วนใหญ่จะเป็นผื่นสีขาวน้ำนม ขอบเขตชัด อาจจะมีอาการคันร่วมด้วยได้รูปร่างและขนาดของผื่น ร่วมทั้งบริเวณที่เป็นจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยรอยโรคที่ดื้อต่อการรักษาคือบริเวณปลายมือปลายเท้า เข่า ข้อศอกและริมฝีปากอาจพบว่าเส้นขนหรือผมบริเวณผื่นมีสีขาวไปด้วยได้หากพบว่าผื่นขาวลุกลามเร็ว มีอาการคัน หรือมีจุดขาวเล็ก ๆ กระจายไว อาจบ่งบอกว่าโรคด่างขาวกำลังกำเริบ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษา
แพทย์หญิงกมลรัตณ์ สุนันทวนิช นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่ารอยด่างขาวมีสีเหมือนน้ำนม หรือเป็นจุดสีขาวคล้าย สีชอล์ก มีรูปร่างและขนาดต่าง ๆ กัน แต่ละคนเป็นมาก เป็นน้อยไม่เท่ากัน เกิดขึ้นได้ทุกแห่งบนผิวหนังทั่วร่างกาย รวมทั้งหน้า ริมฝีปาก หนังตา อวัยวะเพศ และปลายมือ ปลายเท้า ถ้าเกิดบริเวณที่มีผมหรือขน อาจทำให้ผมหรือขนบริเวณนั้นมีสีขาวไปด้วย โรคอาจลุกลามขยายขนาด กว้างขึ้นหรือมีวงใหม่เกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียง หรือที่ใดก็ได้ ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคด่างขาวนั้นเกิดได้จาก ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการอักเสบที่ทำให้เซลล์ผลิตเม็ดสีที่ผิวหนังมีจำนวนลดลง อาจพบโรคร่วมบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ ภาวะซีด โรคแพ้ภูมิตัวเองบางชนิด หรือพบร่วมกับโรคผิวหนังบางอย่างได้ การรักษาโรคด่างขาวมีดังนี้
1.ยาทาส่วนใหญ่ จะเป็นยาลดการอักเสบ ทั้งยาทาที่เป็นสเตียรอยด์และกลุ่มที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ มักใช้ในกรณีที่ผื่นขาวมีผื่นที่ไม่มากเนื่องจากหากใช้ทาบริเวณกว้างอาจจะทำให้เกิดผลข้างเขียงได้
2.ยาลดการอักเสบแบบรับประทาน จะใช้ในกรณีที่รอยโรคลุกลามไว หรือมีการอักเสบมาก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และไม่ใช้การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีเดียวหรือเป็นเวลานานติดต่อกัน
3. การฉายแสงอาทิตย์เทียม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคเป็นบริเวณกว้าง และสามารถมาทำการฉายแสงได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4-6 เดือน
4. การผ่าตัดปลูกถ่ายเม็ดสี จะทำในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล และแพทย์ประเมินความเหมาะสมก่อนทำการผ่าตัดแล้ว
ผู้ป่วยที่มีรอยโรคด่างขาวทุกคน ควรป้องกันแสงแดดด้วยยาทากันแดดและใช้อุปกรณ์ป้องกันแดด เช่น หมวกหรือร่ม และควรหลีกเลี่ยงการเสียดสีเรื้อรังเนื่องจากอาจจะกระตุ้นให้รอยโรคด่างขาวบริเวณนั้นขยายได้ มีทั้งยาทาเฉพาะที่ ยารับประทานร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต เอ, การฉายแสงอัลตราไวโอเลตบีและการปลูกถ่ายผิวหนัง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
ข้อมูลจาก สถาบันโรคผิวหนัง