“ครรภ์เป็นพิษ” คือ…
ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) คือภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวปนอยู่ในปัสสาวะและอาจมีอาการบวม ยิ่งถ้าในเคสที่อาการรุนแรงอาจพบความผิดปกติการทำงานของ ตับ ไต และการแข็งตัวของเลือดได้ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์เป็นต้นไป
สาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ”
มีการศึกษาที่เชื่อว่าภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นเกิดจากกลไกของระบบภูมิคุ้มกัน และความผิดปกติของฮอร์โมนบางตัวในร่างกาย ที่ส่งให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรก ทำให้บางส่วนของรกเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยง จนเนื้อเยื่อรกบางส่วนตายไป และมีการปล่อยสารที่ส่งผลให้เลือดทั่วร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์หดตัว นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง จนทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่ก็พบว่าอาการต่างๆ ของภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นจะหายไปในเกือบจะทันทีเมื่อทารกและรกคลอดออกมา
7 จุดสังเกต “อาการครรภ์เป็นพิษ”
1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยตรวจพบระดับความดันนี้ได้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
2.ตรวจพบโปรตีนหรือไข่ขาวส่วนเกินในปัสสาวะ หรือพบอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา
3.ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แม้ทานยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น และมักปวดบริเวณท้ายทอยหรือหน้าผาก
4.สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
5.ปวดท้องส่วนบน โดยมักปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่
6.หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำหรือของเหลวในปอด
7.น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายบวมน้ำ เช่น มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เท้า เป็นต้น
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็น“กลุ่มเสี่ยง”
* ผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวสายตรงเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ
* มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ โรคไต เบาหวานหรือโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่เป็นอยู่ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์
* ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 18 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
* ตั้งครรภ์ครั้งแรก
* ตั้งครรภ์ลูกแฝดหรือมากกว่า 2 คน
* ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
ขั้นตอนของการวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ
ในการวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะต้องตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงควบคู่กับอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีวิธีการตรวจดังนี้
ซักประวัติคนไข้: ปวดศีรษะ ตาพร่า จุกแน่นลิ้นปี มีอาการบวม หรือน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว
ตรวจร่างกาย: วัดระดับความดันโลหิตได้มากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ: เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ ตรวจความสมบูรณ์เม็ดเลือดเพื่อประเมินความเข้มข้นและเกร็ดเลือด ตรวจการทำงาน ตับ ไต กรดยูริก และการเข็งตัวของเลือด เพื่อประเมินว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือความรุนแรงของโรคหรือไม่
อัลตราซาวด์ทารกในครรภ์: เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและน้ำคร่ำ หากพบว่ามีภาวะเจริญเติบโตช้าและน้ำคร่ำน้อย ถือว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง
ภาวะแทรกซ้อน ที่ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ยังคงมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่คนใกล้ชิดต้องเฝ้าระวัง เช่น อาการชัก หรือกลุ่มอาการ HELLP ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด รวมถึงอวัยวะได้รับความเสียหาย เช่น ดวงตา ตับ ไต ปอด หรือหัวใจ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
วิธีรักษา “ภาวะครรภ์เป็นพิษ”
ภาวะครรภ์เป็นพิษมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน การรักษาเพื่อให้หายขาด คือการยุติการตั้งครรภ์ เพราะอาการป่วยจะค่อยๆ หายไปเองหลังการคลอด แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยก่อนทำคลอด เช่น ความรุนแรงของอาการ อายุครรภ์ขณะมีอาการ หรือในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถทำคลอดได้ทันที ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและประคับประคองอาการจนกว่าใกล้ถึงระยะเวลาที่พร้อมคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่หากมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าคลอด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
เรียนรู้ที่จะ “ป้องกัน” จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
การที่คุณแม่ฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติได้เร็วและรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้ได้ 8 แก้วต่อวันหรือมากกว่า และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก การทานยา Aspirin ตามแพทย์สั่ง ก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในกลุ่มเสี่ยงได้ หรือการได้รับแคลเซียม วิตามิน C และ E เสริมในขณะตั้งครรภ์ ก็ช่วยได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก
พญ. ปวีณา บุตรดีวงศ์
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์