ที่มา : อ.พญ.ณัฐชา พูลเจริญ ฝ่ายสูตินรีเวช โรงพยาบาลจฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
“มะเร็งรังไข่” โรคที่ติดอันดับยอดฮิตที่พบในเพศหญิงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ เกิดจากการที่มีเซลล์บริเวณรังไข่เกิดความผิดปกติกลายเป็นมะเร็ง เนื่องจากรังไข่เป็นอวัยวะที่มีขนาดเล็กและอยู่ในช่องท้อง ทำให้เมื่อเกิดเป็นมะเร็ง อาจมีอาการไม่ชัดเจน และเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น การทำความเข้าใจในมะเร็งรังไข่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันให้เรารับมือได้อย่างถูกวิธี
สังเกตอาการ “มะเร็งรังไข่”
* ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
* ท้องอืด ท้องเฟ้อ
* ท้องบวม ท้องแข็ง
* คลำเจอก้อนเนื้อในช่องท้อง
* ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือกลั้นไม่อยู่
* รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
* ท้องผูกเรื้อรังหรือมีความผิดปกติของการอุจจาระ
* น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
* อาหารไม่ย่อย อิ่มไว รับประทานอาหารได้น้อยลง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่
* มีประวัติครอบครัว หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม
* สตรีวัยกลางคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
* มีประจำเดือนไวกว่าปกติ และหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
* มีประวัติการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคอ้วน และมีความผิดปกติของยีน
* สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร
โรคมะเร็งรังไข่รักษาได้อย่างไร ?
วิธีรักษา คือ การผ่าตัด และการใช้เคมีบำบัด ทั้งนี้ วิธีการรักษา หรือจำนวนครั้งของการให้ยาเคมีบำบัด อาจขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ตรวจพบ หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้เร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ และมีผลการรักษาที่ดี
ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจภายในประจำปี หากมีการตรวจเจอความผิดปกติที่รังไข่ ควรเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม และหากตรวจเจอเชื้อมะเร็ง ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น
ข้อมูลจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=339881