สบยช. เตือน “ยาทรามาดอล” ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ใช้ผิดอาจทำให้เสพติดได้

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยการใช้ “ยาทรามาดอล” หรือ “ยาเขียวเหลือง” ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง หากนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกับ ฝิ่น เฮโรอีน


นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ทรามาดอล (Tramadol)” หรือที่รู้จักกันว่า“ยาเขียวเหลือง” เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน มีทั้งแบบยาเม็ดและยาแคปซูลในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในระยะเวลาสั้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ แต่พบการลักลอบจำหน่ายตามช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ เพี่อให้กลุ่มวัยรุ่นบางกลุ่มนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งการใช้เสพแบบยาเดี่ยวและผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขและหากใช้อย่างต่อเนื่องทำให้มีความต้องการปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้นยาทรามาดอล ทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับ ฝิ่น เฮโรอีน หากได้รับเป็นเวลานานและหยุดยาทันทีจะเกิดอาการถอนยาได้ ในปัจจุบันจึงมีการปรับสถานะของยาทรามาดอล จากเดิมเป็นยาอันตรายปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องจำหน่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้นและห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ในทุกกรณี


นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลข้างเคียงจากการใช้ ยาทรามาดอล เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม หากใช้ในปริมาณมากอาจเกิดประสาทหลอน ชักและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน หากมีการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นโดยเฉพาะยาอี ยาบ้า จะยิ่งเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น จึงขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นที่นำ “ยาทรามาดอล” ไปใช้ในทางที่ผิดให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก ซึ่งร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นผิดปกติ พบสิ่งของต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุย บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติด ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง


29 กันยายน 2567