ที่มา: สำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญของการรักษาโรคเบาหวาน
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้ดีจะสามารถลดอาการของระดับน้ำตาลในเลือดสูง และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย แผลที่เท้า รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจได้
เกณฑ์การวินิจฉัยโรค
สามารถทำการวินิจฉัยได้ โดยการเจาะน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ในคนปกติ จะมีค่าอยู่ระหว่าง 70-99mg/dl ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน จะมีค่าอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dl ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลตั้งแต่ 126 ขึ้นไป ในผู้ที่มีอาการของเบาหวานชัดเจน (ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย) ร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดขณะใด ๆ มากกว่า 200 mg/dl สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคได้
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้
1.กินอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมกับร่างกายและกิจกรรมประจำวัน หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิด
2.กินยาหรือฉีดยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
3.เลิกสูบบุหรี่
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะ ๆ เดิน หรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น ทำงานบ้าน ขุดดิน ทำสวน เดินต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งเท่ากับการออกกำลังกาย ระดับเบาถึงปานกลาง
5.ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด และควรมีน้ำตาล ทอฟฟี่ติดตัวไว้ หากใจสั่น หน้ามือ ตาลาย หิว เหงื่อออก อ่อนเพลียให้รีบกินน้ำตาล/อมทอฟฟี่ทันที
6.พกบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีชื่อยาติดตัวไว้เสมอ
7. รักษาความสะอาดปากและฟันโดยการแปรงฟัน ซอกฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันปีละ 2 ครั้ง
8.หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
9. ตรวจตา การทำงานของไต และตรวจเท้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคแทรกซ้อน
ข้อมูลจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=372556