การบำบัดด้วยแสงดีต่อหัวใจ

www.medi.co.th

การบำบัดด้วยแสงอาจเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่สำหรับผู้เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ เมื่อทีมวิจัยชาวแคนาดาและอเมริกันร่วมกันวิจัยและพบว่า แสงที่มีความเข้มสูงควบคู่ไปกับการบำบัดรักษาด้วยยาตามลำดับเวลาที่เหมาะสม อาจจะช่วยแก้ปัญหาของระบบไหลเวียนโลหิต รวมถึงอาการโรคหัวใจให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้


ผลงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยในมหาวิทยาลัย Colorado Anschutz Medical Campus ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Circulation Research ของ American Heart Association โดยได้รับการยืนยันจาก ศาสตราจารย์ Tobias Eckle จากสาขาวิสัญญีวิทยาในคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งโคโลราโด ผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับนี้ว่า การใช้แสงที่มีระดับความเข้มสูงไม่มีผลข้างเคียงและมีความปลอดภัยในการสมานแผลที่เนื้อเยื่อหัวใจได้รับบาดเจ็บจากการผ่าตัด รวมถึงลดโอกาสของภาวะหัวใจขาดเลือดด้วย จังหวะวงจรเซอคาเดียน หรือนาฬิกาชีวิตทำงานเป็นปกติ และร่างกายของผู้ป่วยโรคหัวใจฟื้นตัวได้ดีหลังจากการได้รับการบำบัดด้วยแสง ควบคู่ไปกับการรับยาตามขั้นตอนที่เหมาะสม โดยจะมีผู้ป่วยหลายล้านคนสามารถได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในสาขาการแพทย์แนวใหม่ที่เรียกว่า Circadian Medicine


ทั้งนี้ Circadian Rhythm หรือนาฬิกาชีวภาพในร่างกายมนุษย์ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของระบบหัวใจและระบบหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย ขณะที่ระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา โดยจังหวะจะเร็วสูงสุดในตอนกลางวัน และลดระดับลงมาในเวลากลางคืน หากจังหวะวงจรเซอคาเดียนถูกรบกวน อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและภาวะหัวใจล้มเหลว


ศาสตราจารย์ Tami A. Martino ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยระดับโมเลกุลและหลอดเลือดหัวใจที่มหาวิทยาลัย Guelph ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งร่วมเขียนรายงานวิจัยนี้ด้วย กล่าวว่า งานวิจัยด้าน Circadian Medicine ซึ่งใช้การบำบัดด้วยแสงที่มีความเข้มสูง กำลังก้าวหน้าไปอย่างมาก วิธีการนี้เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจหลังการผ่าตัดหัวใจ เพราะใช้บำบัดอาการบาดเจ็บจากการผ่าตัด และยังใช้ในการศึกษาต่อไปด้วยว่า โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจของกลุ่มชายและหญิงแตกต่างกันอย่างไร และจะทำให้การให้ยาในแต่ละช่วงเวลาของวันให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตและระบบภายในของร่างกายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การรักษาเกือบทั้งหมดมีความเสี่ยงต่ำ โดยบางส่วนใช้กล่องไฟที่มีแสงที่มีความเข้มสูง และบางส่วนใช้ยาที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว


ทีมวิจัยระบุว่า เมื่อแสงตกกระทบดวงตามนุษย์ แสงจะถูกถ่ายทอดไปยัง suprachiasmatic nucleus ซึ่งเป็นโครงสร้างของเซลล์ประสาท 20,000 ตัวในไฮโปทาลามัสของสมอง ที่ควบคุมจังหวะการทำงานของร่างกายส่วนใหญ่ในร่างกาย แสงที่มีความเข้มสูงจะรักษาเสถียรภาพของยีน PER2 และเพิ่มระดับอะดีโนซีน ซึ่งจะบล็อกสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจที่ทำให้เกิดจังหวะเต้นผิดปกติ ทำให้สามารถป้องกันหัวใจได้ การบำบัดด้วยแสงนี้ยังช่วยลดระดับสาร troponin ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหากระดับ tropoini สูง แสดงว่าเป็นสัญญาณเตือนของอาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่ทีมวิจัยยังคงต้องทำการทดลองและวิจัยเพิ่มเติมในผู้ป่วยต่อไป เพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดหัวใจให้ได้มากที่สุด


 

ข้อมูล :  https://news.cuanschutz.edu/news-stories/therapy-using-intense-light-and-chronological-time-can-benefit-heart