ทีมนักวิจัยเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ทดลองให้ AI ช่วยวินิจฉัยในกระบวนการคัดกรองผู้ที่อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม ปรากฏว่าช่วยลดภาระและเวลาในการตรวจภาพรังสีเต้านมได้อย่างมาก และผลการตรวจยังละเอียดและถูกต้องมากขึ้น
ผลการศึกษาของ Dr. Andreas D. Lauritzen ที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และทีมงานที่เป็นนักชาวเดนมาร์กและดัทช์ ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร .%Radiology เนื้อหาทั้งหมดแสดงผลการเปรียบเทียบและการวิเคราะห์ย้อนหลังเกี่ยวกับประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์
ทีมนักวิจัยทดสอบประสิทธิภาพและความแม่นยำของโปรแกรม AI โดยแบ่งกลุ่มคัดครองออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งหมดเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 50 ถึง 69 ปี โดยกลุ่มแรกมีจำนวน 60,751 คน ที่นักรังสีวิทยา 2 คน ไม่ได้ใช้ AI ตรวจแมมโมแกรม ส่วนกลุ่มที่สอง 58,246 คน ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมที่เชื่อมต่อกับโปรแกรม AI ถ้าโปรแกรม AI ระบุว่าผลตรวจเป็นปกติ จะมีนักรังสีวิทยาคนหนึ่งมาตรวจซ้ำ แต่ถ้า AI พบบางสิ่งที่น่าสงสัย ก็จะมีนักรังสีวิทยา 2 คน มาตรวจสอบยืนยันอีกที ผลปรากฏว่า การคัดกรองด้วย AI ช่วยเพิ่มอัตราการตรวจพบมะเร็งจาก 0.70% เป็น 0.82% และลดภาระงานในการอ่านแมมโมแกรมของนักรังสีวิทยาลง 33.5%
ผลการศึกษาครั้งนี้ยืนยันว่า การใช้ระบบคัดกรองด้วย AI ช่วยลดภาระงานของนักรังสีวิทยาในการวิเคราะห์ภาพแมมโมแกรมอย่างมาก ขณะเดียวกัน AI ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้อย่างน่าพอใจ เพราะอัตราผลบวกที่ผิดพลาดนั้นลดลงอย่างชัดเจน
ในแต่ละปี ผู้หญิงมากกว่า 500,000 คนทั่วโลก เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้อย่างมาก แต่นักรังสีวิทยาต้องใช้เวลามากกับการศึกษา-ภาพแมมโมแกรมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้บ่งชี้ถึงรอยโรคที่น่าสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องทำแมมโมแกรมซ้ำเพื่อลดอัตราการวิเคราะห์ผลผิดพลาด ผนวกกับนักรังสีวิทยาที่เชี่ยวชาญในการดูแมมโมแกรมมีจำนวนไม่มากพอที่จะทำให้ภารกิจสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว