พฤติกรรมติดสารเสพติดอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของปลอกไมอีลินในสมอง

นักวิจัยอเมริกันค้นพบเบาะแสที่นำไปสู่การบำบัดรักษาผู้เสพติดสารประเภทฝิ่น จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปลอกไมอีลินในสมองที่เกิดจากการใช้สารเสพติด จนไปกระตุ้นวงจรการให้รางวัลของสมองที่ปรับตัวอย่างไม่ถูกต้อง และนำไปสู่พฤติกรรมติดยาในที่สุด


วารสาร Nature ฉบับวันที่ 5 มิถุยายน ปีนี้ รายงานผลการวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ โดยเป็นการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของปลอกไมอีลินในสมองที่มีผลต่อการเสพติดสารประเภทฝิ่น พวกเขาพบว่า ความยืดหยุ่นของระบบประสาทบางประเภทที่เรียกว่า Adaptive Myelination ก็สามารถมีส่วนทำให้เกิดการเสพติดสารประเภทฝิ่นได้


จากการทดลองกับหนู การให้มอร์ฟีนเพียงโดสเดียวก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างเยื่อไมอีลินของเซลล์ประสาทที่ผลิตโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีสื่อประสาทของวงจรการให้รางวัลของสมอง กระตุ้นให้หนูทดลองมีพฤติกรรมแสดงออกที่บ่งบอกถึงการอยากรับมอร์ฟีนมากขึ้น แต่เมื่อนักวิจัยสกัดกระบวนการ Myelination หนูกลับไม่มีความรู้สึกอยากได้รับมอร์ฟีนอีกเลย พวกเขาพบว่า Adaptive Myelination ซึ่งมีฉนวนที่เป็นไขมันหุ้มนิวรอน ช่วยให้สัญญาณไฟฟ้าที่ไหลผ่านเส้นใยประสาทเดินทางได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้รางวัลของวงจรสมอง


ศาสตราจารย์ Michelle Monje ผู้เขียนรายงานวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า การพัฒนาไมอีลินจะไม่สมบูรณ์จนกว่าเราจะอายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ หลังจากช่วงพัฒนาการที่ยืดเยื้อ เซลล์พิเศษในสมองที่เรียกว่า oligodendrocyte จะสร้างเยื่อไมอีลินใหม่ในบางส่วนของสมอง และความยืดหยุ่นของระบบประสาท (neuroplasticity) สามารถปรับตัวได้เอง และ Adaptive Myelination จะเพิ่มไมอีลินบนนิวรอนซ้อนขึ้นมาเป็นชั้นใหม่ ๆ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียนรู้ โดยในการทดลองกับหนูนั้น พบว่า เซลล์ oligodendrocyte เพิ่มขึ้นและมีเซลล์ผลิตโดปามีนที่สร้างไมอีลินก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยมีไมอีลินหนาขึ้นรอบแกนประสาทนำออก (axon) จึงแสดงให้เห็นว่า การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของไมอีลินในสมองที่ดีขึ้น อาจจะช่วยพัฒนาแนวทางบำบัดรักษาผู้ป่วยติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ ได้ในอนาคต


 

ข้อมูล : https://medicalxpress.com/