นักวิจัยเดนมาร์กพัฒนาอัลกอริทึมของระบบ AI ในการแก้ปัญหาผู้ป่วยสมองเสื่อม ทำให้ปัญหาที่นักประสาทวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้และหาคำตอบนานหลายสัปดาห์สามารถได้รับคำตอบได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ผลงานล่าสุดของทีมนักวิจัยภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกำลังได้รับความสนใจในวงการนักประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscientist) ทั่วโลก เนื่องจากอุปกรณ์ตัวใหม่ที่พวกเขาคิดค้นอาจปฏิวัติวิธีรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน รวมไปถึงมะเร็งได้เลยทีเดียว
Jacob Kæstel-Hansen และ Nikos Hatzakis ตัวแทนทีมวิจัยยืนยันว่า อัลกอริทึม machine learning algorithm ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมานั้นสามารถ tracking สารโปรตีนและสารอื่นๆ ทั้งหมดที่รวมกันอยู่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบเรียลไทม์ โดยจะวิเคราะห์และจำแนกข้อมูลของสารทั้งหมดออกมาเป็นแผนผัง และค้นหาต้นตอที่ทำให้เกิดความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ซึ่งก่อนหน้านี้ภารกิจนี้ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์
ปัจจุบันชาวเดนมาร์กที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกือบ 100,000 คน และผู้คนอีกกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ทีมวิจัยกลุ่มนี้เชื่อว่า ระบบอัลกอริทึมของพวกเขาจะช่วยให้การแก้ปัญหาท้าทายนี้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อนำไปสู่วิธีการบำบัดรูปแบบใหม่ในอนาคต
ขณะนี้พวกเขากำลังใช้เครื่องมือนี้อย่างเต็มที่เพื่อทำการทดลองกับโมเลกุลของอินซูลิน เมื่อโมเลกุลของอินซูลินจับตัวกันเป็นก้อน ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของเราก็จะลดลง แต่เครื่องมือใหม่ของพวกเขาช่วยให้เห็นโครงสร้างโมเลกุลและสารโปรตีนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบจากสารประกอบต่างๆ อันจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดโรคต่างๆ ได้