ถ้าการเปลี่ยนถ่ายหัวใจหลังจากศัลยแพทย์ Christian Barnard ลงมือผ่าตัดเปลี่ยนครั้งแรกผ่านมา 50 ปี กลายเป็นการรักษาที่ทำกันเป็นปกติ การแพทย์จะสามารถทำอะไรได้ในอนาคต
สักวันหนึ่งเราจะสามารถสร้างหรือแม้แต่เพาะเลี้ยงหัวใจเพื่อใช้ทดแทนของเดิม หรือศัลยแพทย์จะสามารถใช้หัวใจสัตว์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแทนได้หรือไม่
ความก้าวหน้าโงนเงนง่อนแง่นมาตลอด
Mr. Andre Simon ผู้อำนวยการหน่วยเปลี่ยนถ่ายหัวใจและปอดที่ Harefield Hospital กล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าเราติดกับดัก เมื่อตอนผมอายุ 18 และเห็นการปลูกถ่ายหัวใจครั้งแรกในชีวิต นั่นคือ ปี 1986”
“มีศัลยแพทย์ 2 คน ผมสามารถมองเห็นเขากำลังผูกปม แต่คุณไม่สามารถเห็นนิ้วของหมอ เพราะมันไวมาก น่าแปลกและน่าทึ่งมาก”
“นั่นคือ การสิ้นสุดของยุค ‘คาวบอย’ ในการทำศัลยกรรมหัวใจ ผมจำได้ว่าได้เข้ามาในสำนักงาน และรู้สึกทึ่งเมื่อพบว่าทุกอย่างเต็มไปด้วยก้นบุหรี่และขวดเบียร์เปล่า”
“นี่คือห้วงเวลาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว”
“ในภาพรวม เราอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นมาก เพราะเราสามารถทำสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้มาก่อน แต่เรายังขาดความมุ่งมั่นที่สำคัญเพื่อทำให้ดีกว่าที่เราเคยทำได้มาก่อน"
เทคนิคใหม่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนอวัยวะที่รับบริจาคประมาณ 200 หน่วยต่อปี ในสหราชอาณาจักรยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการ ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 65 ปี ประมาณ 2,000 คน จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวโดยไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ทางเลือกหนึ่งที่คณะผู้วิจัยตั้งความหวังที่จะพัฒนา คือ การใช้เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) เพื่อปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นใหม่
Dr. Doris Taylor ผู้อำนวยการ Center for Cell and Organ Biotechnology ที่ Texas Heart Institute ในฮิวตัน กล่าวว่า “ถ้าเราต้องการสร้างหัวใจทั้งดวง จะต้องใช้เซลล์หลายร้อยล้านเซลล์ ข่าวดีก็คือ เวลานี้เราสามารถทำได้”
“เป้าหมายของผม คือ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า จะสร้างหัวใจ 2 ถึง 3 ดวง ที่หดตัวได้ในระดับที่ทำให้สามารถปลูกถ่ายได้ (ในสัตว์ใหญ่ เช่น วัว)”
คณะทำงานของ Dr. Taylor จะลอกเซลล์จากหัวใจของหมู และสร้างขึ้นใหม่โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด
พวกเขาหวังว่าจะทำให้เทคนิคนี้สมบูรณ์ โดยทำให้หัวใจที่ป่วยเป็นหัวใจที่เติบโตขึ้นมาใหม่
ในที่สุด คณะผู้วิจัยหวังว่า หัวใจดวงใหม่จะสามารถทำหน้าที่แทนได้อย่างสมบูรณ์
“สิ่งที่เราค้นพบแล้ว คือ เซลล์ที่อพยพเข้าไปต่างพื้นที่มักจะพัฒนาความแตกต่างให้กลายเป็นเซลล์ชนิดที่เป็นของพื้นที่นั้น ๆ” Dr. Taylor กล่าว
อย่างไรก็ตาม Prof. John Dark ศัลยแพทย์ทรวงอกและหัวใจ ได้เตือนให้ระวังการสร้างความหวังที่ไม่มีโอกาสเป็นจริง
“เราได้เห็นผู้คนมีความคิดที่ตื่นเต้นมากมาหลายครั้งแล้วในอดีต” เขากล่าวและว่า
“ 20 ปีที่แล้ว เราคิดว่าเราเกือบจะเอาอวัยวะจากหมูไปใช้สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ต่างตระกูล (xenotransplants) และขณะที่เรามีพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นในสาขานี้ เราก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น”
“ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการตื่นเต้นอย่างใหญ่โตกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อซ่อมแซมหัวใจที่เสียหาย”
“ผลทางคลินิกกลับน่าผิดหวังมาก เราพบว่าหัวใจมีการทำงานที่ดีขึ้นแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่”
“เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จแล้วในขั้นสุดท้าย ก่อนเวลาที่เราจะมั่นใจได้จริงๆ”
อุปกรณ์เครื่องกล สามารถช่วยหัวใจที่ล้มเหลวได้
ทางเลือกอื่นนอกจากการเพาะเลี้ยงหัวใจดวงใหม่ คือ การพัฒนาปรับปรุงอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้จนกว่าจะสามารถรับการปลูกถ่าย
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ (Left Ventricular Assist Device: LVAD) ซึ่งเป็นเครื่องปั๊มที่ช่วยการทำงานของหัวใจด้านซ้าย ได้ลดขนาดจากชุดอุปกรณ์ภายนอกที่มีขนาดใหญ่กลายเป็นอุปกรณ์ที่เล็กมากทำงานโดยใช้แบตเตอรี ซึ่งสามารถฝังเข้าไปในหน้าอกได้
สำหรับปีแรก อุปกรณ์นี้มีประสิทธิผลเท่ากับการปลูกถ่ายอวัยวะ และอุปกรณ์แต่ละรุ่นยังมีประสิทธิผลมากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์ดังกล่าว
ก้าวต่อไปจะเป็นการพัฒนาหัวใจที่เป็นเครื่องกลหรือไม่ Mr. Simon คิดว่าเป็นเช่นนั้น
“ผมมองเห็นได้ว่าอุปกรณ์แบบนั้น ถ้าผลิตเป็นจำนวนมาก จะไม่มีราคาแพงมากอย่างนั้น”
“จะเหมือนกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) แค่ไปซื้อมาใช้ เหมือนกับซื้อ iPhone เครื่องใหม่สักเครื่องหนึ่ง”
คณะผู้วิจัยกำลังทำงานเพื่อพยายามรักษาหัวใจให้อยู่นานมากขึ้นอีกด้วย หลังจากได้นำหัวใจออกจากตัวผู้บริจาคแล้ว
“ความเร็วเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงที่สุด ปัจจุบันมีการใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง และโอกาสนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบ”
“ปัญหาทั้งหลายที่เราเผชิญอยู่กำลังช่วยสร้างอุปกรณ์ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดกั้นและโรคหลอดเลือดหัวใจ และทำงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์”
เทคนิคในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดการทำงานของหัวใจและเก็บไว้ในสารละลายที่เย็น
แต่การทดลองแสดงว่า ถ้าหัวใจที่เต้นอยู่เต็มไปด้วยเลือดที่อุ่น จะสามารถปกป้องหัวใจไว้ภายนอกร่างกายได้นานมากขึ้น (ถึง 12 ชั่วโมง)
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ในที่สุดอาจเป็นไปได้ที่เราจะเก็บหัวใจได้นานถึง 1 เดือน ซึ่งจะช่วยให้มีความเป็นไปได้ในการจับคู่หัวใจให้เข้ากับภูมิคุ้มกันเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้รับประโยชน์
กุญแจไขเปิดสู่อนาคตไม่น่าจะอยู่ที่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว แต่มาจากการประสานรวมเทคโนโลยีทั้งหมด
แต่ถ้า 50 ปีที่ผ่านมา ได้สอนอะไรให้เราแล้ว สิ่งนั้นคือ อะไรที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ จะกลายเป็นการแพทย์แห่งอนาคต