ปลูกถ่ายหัวใจหมูสู่คน ประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลก

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน ประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลกด้วยการปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมให้กับคนไข้ชายรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (arrhythmia) ที่ขาดคุณสมบัติในการขึ้นบัญชีสำหรับการปลูกถ่ายหัวใจ (heart transplantation) และไม่สามารถใช้ artificial heart pump ได้
          ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 โดยคณะศัลยแพทย์โรคหัวใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยการแพทย์ Maryland (University of Maryland Medicine) ในเมือง Baltimore มลรัฐ Maryland ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งพันธุกรรมให้กับ นาย David Bennett คนไข้ชาวอเมริกันวัย 57 ปี ในเมือง Baltimore ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แต่ขาดคุณสมบัติในการขึ้นบัญชีสำหรับการปลูกถ่ายหัวใจ (heart transplantation) และไม่สามารถใช้ artificial heart pump ได้
          คณะศัลยแพทย์โรคหัวใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมให้กับ นาย Bennett นำทีมโดย นพ. Bartley P. Griffith ผู้อำนวยการโครงการปลูกถ่ายหัวใจและปอด (Cardiac & Lung Transplant Program) ของมหาวิทยาลัยการแพทย์ Maryland และ นพ. Muhammad M. Mohiuddin ผู้อำนวยการด้านวิชาการของโครงการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ด้านโรคหัวใจ (Cardiac Xenotransplantation Program) แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์ Maryland โดย นพ. Mohiuddin เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงโด่งดังของโลกทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน
          ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนปรับแต่งทางพันธุกรรม นาย Bennett ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยการแพทย์ Maryland มานาน 2 เดือนกว่า ๆ เนื่องจากมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พร้อมจะคร่าชีวิตของเขาได้ทุกขณะ โดย นาย Bennett จัดเป็นคนไข้โรคหัวใจระยะสุดท้าย (end-stage heart disease) เนื่องจากเขายังมีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการอาศัยเครื่องหัวใจ-ปอดเทียม (extracorporeal membrane oxygenation หรือ ECMO) ช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด นอกจากนี้ นาย Bennett ยังขาดคุณสมบัติในการขึ้นบัญชีสำหรับการปลูกถ่ายหัวใจ และยังไม่สามารถใช้ artificial heart pump ได้อีกด้วย เขาจึงให้ความยินยอมที่จะได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คนตามที่คณะแพทย์ผู้ให้การรักษาแนะนำ

          หลังจากคณะแพทย์ผู้ให้การรักษา นาย Bennett ตัดสินใจที่จะให้การรักษาคนไข้รายนี้ด้วยการปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมแทนที่หัวใจจริงของเขา คณะแพทย์ได้ยื่นขออนุมัติการรักษาด้วยวิธีการนี้จากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) และในช่วงปลายปี 2564 FDA ได้อนุมัติคำร้องขอของคณะแพทย์ผู้ให้การรักษา นาย Bennett เนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คนเป็นทางเลือกเดียวของการรักษาที่มีอยู่ที่อาจจะช่วยให้คนไข้มีชีวิตรอดต่อไปได้
          ทั้งนี้ จากข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะและการบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายของสำนักงาน Health Resources & Services Administration สหรัฐอเมริกา พบว่า มีชาวอเมริกันถึงประมาณ 110,000 คน ที่กำลังรอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ในปัจจุบัน และมีคนไข้มากกว่า 6,000 คน ในแต่ละปีที่เสียชีวิตลงก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่ได้รับการบริจาคเพื่อใช้สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ
          สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คนด้วยการปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมให้กับ นาย Bennett นั้น คณะแพทย์ผู้ให้การรักษา นาย Bennett ได้รับบริจาคหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมจาก Revivicor บริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Blacksburg มลรัฐ Virginia สหรัฐอเมริกา โดยหัวใจหมูถูกปรับแต่งทางพันธุกรรม 10 alterations ประกอบด้วย การทำให้ genes 4 ตัวของหมู มีความผิดปกติจนไม่สามารถแสดงออกได้ และการใส่ genes 10 ตัวของมนุษย์ เข้าไปในโครงสร้างพันธุกรรม หรือ genome ของหมู ซึ่งการปรับแต่งทางพันธุกรรม 9 alterations ก็เพื่อลดโอกาสที่ร่างกายของคนไข้จะปฏิเสธอวัยวะใหม่หลังการปลูกถ่าย  ขณะที่การปรับแต่งทางพันธุกรรมอีก 1 alteration ก็เพื่อยับยั้งไม่ให้เนื้อเยื่อของหมูมีการเจริญเติบโตมากจนเกินไปในทันทีที่อวัยวะของหมูได้รับการปลูกถ่ายให้กับคนไข้ พร้อมกันนี้ ยังมีการใช้ยากดภูมิต้านทานใหม่ตัวหนึ่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทางคลินิกของ บริษัท Kiniksa Pharmaceuticals ควบคู่ไปกับ anti-rejection drugs ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในการป้องกันไม่ให้ร่างกายของคนไข้ปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายให้กับคนไข้อีกด้วย
          โดย 3 วัน หลังจากประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมให้กับ นาย Bennett นพ. Griffith ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ว่า หัวใจดวงใหม่ของคนไข้รายนี้ยังคงทำงานได้ตามปกติอย่างแข็งแรงและจังหวะการเต้นของหัวใจดวงใหม่มีความเสถียร ดูเหมือนว่าหัวใจดวงใหม่จะมีความสุขกับเจ้าของบ้านคนใหม่ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ดีเกินกว่าที่เราคาดหวังกันไว้ โดยคนไข้สามารถถอดเครื่องหัวใจ-ปอดเทียมที่ใส่มานานกว่า 45 วัน ได้แล้ว คนไข้สามารถหายใจได้เองและพูดคุยได้แล้วด้วยเสียงเบา ๆ
          โดยก่อนหน้านี้ในวันที่เขาและคณะทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมเข้าไปแทนที่หัวใจเดิมของ นาย Bennett นั้น นพ. Griffith กล่าวว่า นี่เป็นความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์ของการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน และกำลังช่วยให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับคนไข้จำนวนมากที่กำลังรอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ    
 
แหล่งที่มาของข้อมูล: www.medschool.umaryland.edu, www.medicalnewstoday.com, https://medicalxpress.com,www.nature.com, www.science.org, www.umms.org