ตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมาดูโลก พ่อคอยโอบอุ้มเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จนเมื่อสำเร็จการศึกษามีหน้าที่การงาน พ่อก็ยังคอยเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินชีวิต และการทำงาน โดยเป็นทั้งผู้สนับสนุนและให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง
อาจารย์ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงที่มาของนวัตกรรม "หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์" ที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยสามารถคว้า 3 รางวัลจากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นผลงานที่ได้สร้างสรรค์ร่วมกับ นายชะโอด ตัณฑเจริญรัตน์ หัวหน้างานอำนวยการและวางแผน สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 แห่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ผู้เป็นบิดา ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา
โดยเป็นนวัตกรรมที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากโจทย์ที่มาจากชั้นเรียนพยาบาล ที่ต้องสาธิตให้นักศึกษาพยาบาลเรียนรู้การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี โดยทารกแรกเกิดทุกรายต้องได้รับการฉีดวิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด
นอกจากนี้ ทารกแรกเกิดยังต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเข้ากล้ามเนื้ออีกจำนวน 3 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดเมื่อแรกเกิด เข็มที่สองและสามฉีดเมื่ออายุ 1-2 และ 6 เดือนตามลำดับ ซึ่งตำแหน่งของการฉีดวัคซีนในเด็กทารกแรกเกิดนั้น ต่างจากผู้ใหญ่ตรงบริเวณที่ฉีดจะต้องเป็นบริเวณต้นขา เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่เจริญที่สุด เมื่อเทียบกับกล้ามเนื้อบริเวณอื่นของทารกแรกเกิด
เมื่อรวบรวมจากปัญหาที่เกิดจากชั้นเรียนฝึกฉีดยาของนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการคาดคะเนตำแหน่งและระดับความลึกของการแทงเข็ม จึงได้ปรึกษา “คุณพ่อชะโอด ตัณฑเจริญรัตน์” ซึ่งมีความชำนาญในเชิงช่าง และสนใจเกี่ยวกับงานประดิษฐ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ จนได้กลายมาเป็น “หุ่นฝึกฉีดยาต้นแบบ” ให้นักศึกษาพยาบาลของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน
นวัตกรรม “หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” นี้ จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนอย่างแท้จริง โดยได้รับการออกแบบให้สามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับการฉีดยาทารกจริงมากที่สุด
ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกหุ่นให้มีขนาดเท่ากับทารกจริง การใช้วัสดุตรงบริเวณที่ฝึกฉีดยาที่ทำด้วย "ซิลิโคน" เพื่อให้มีผิวสัมผัสคล้ายผิวหนังของมนุษย์ และ "การต่อ วงจรอิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งสามารถให้คำแนะนำด้วยเสียงเพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะของตนเอง ใช้งานง่ายภายใน 4 ขั้นตอนการใช้งาน เพียงเสียบปลั๊ก เปิดสวิตช์ ก็สามารถทดลองฝึกฉีดยา และได้รับคำแนะนำด้วยเสียงได้ทันที
ขอเพียงเชื่อมั่นว่าเราทำได้ และเปิดใจ ไม่ว่าอุปสรรคใดๆ ก็จะสามารถฝ่าฟันและเอาชนะได้ เช่นเดียวกับสองพ่อ-ลูกแห่งครอบครัว "ตัณฑเจริญรัตน์" ที่ได้ร่วมกันสร้างคุณประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษาพยาบาลศาสตร์ มอบนวัตกรรม “หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ ได้ต่อยอดดวงอัคนีแห่งความคิดอันเจิดจรัสนี้ให้เรืองรองผ่องอำไพสู่นวัตกรรุ่นหลังต่อไป
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210