“สารเคมีชั่วนิรันดร์” เร่งเซลล์มะเร็งให้กระจายตัวไวขึ้น

บรรยายภาพ : ภาพจำลองเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นเป็นก้อนเนื้อร้ายในลำไส้

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ชี้ว่ามีความเสี่ยงที่ “สารเคมีชั่วนิรันดร์” (forever chemicals) ซึ่งปนเปื้อนในดินและน้ำรวมทั้งแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคหลายชนิด จะเป็นสารที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งแพร่ขยายลุกลามไปทั่วร่างกาย จนผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วได้


สารเคมีชั่วนิรันดร์ หรือสารเคมีในกลุ่มโพลีฟลูออโรอัลคิลและเพอร์ฟลูออโรอัลคิล (PFAS) เป็นสารประกอบฟลูออรีนที่มีอยู่ราว 4,500 ชนิด สามารถตกค้างอยู่ในดิน น้ำ และบรรยากาศได้นานกว่าหลายพันปีโดยไม่ย่อยสลายไป จนได้รับฉายาว่าเป็นสารเคมีอมตะ หรือสารเคมีชั่วนิรันดร์นั่นเอง


สารดังกล่าวพบได้ในเครื่องครัวเคลือบเทฟลอน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนหลายชนิด รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่นสี กาว กระดาษ เสื้อกันฝน บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งโฟมดับเพลิง ซึ่งทำให้นักผจญเพลิงเสี่ยงต่อการได้รับสารกลุ่ม PFAS และเสี่ยงล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งมากกว่าผู้อื่น เพราะการสัมผัสกับโฟมที่ใช้ดับไฟเป็นประจำ


ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี” (Environmental Science & Technology) ระบุว่ามีการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยให้สารกลุ่ม PFAS กับก้อนเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ 2 ก้อน ที่นักวิจัยเพาะเลี้ยงขึ้นเอง โดยเนื้อร้ายก้อนหนึ่งมียีนชื่อว่า KRAS เป็นปกติ แต่อีกก้อนหนึ่งมาจากยีน KRAS ที่กลายพันธุ์ ซึ่งมักจะเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดร้ายแรง


หลังได้รับสารเคมีชั่วนิรันดร์ เซลล์มะเร็งทั้ง 2 ก้อนมีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น และแสดงออกซึ่งแนวโน้มที่จะขยายตัว รวมทั้งแพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไป แม้ผู้วิจัยจะทดลองตัดแยกก้อนเซลล์มะเร็งที่วางในแนวราบออกเป็น 2 ส่วน แต่หลังจากได้รับสารกลุ่ม PFAS ก้อนเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้โตขึ้นและพยายามจะขยายตัวเข้าหากัน เพื่อเชื่อมต่อให้กลายเป็นเนื้อร้ายก้อนใหญ่

บรรยายภาพ : นักผจญเพลิงเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีชั่วนิรันดร์มากกว่าผู้อื่น เพราะการสัมผัสกับโฟมที่ใช้ดับไฟ

นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบสารเมตาบอไลต์ (metabolites) หรือสารที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างและสลายสารต่าง ๆ ของระบบเผาผลาญ อันเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์ ยังชี้ว่าสารกลุ่ม PFAS เข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารเมตาบอไลต์หลายชนิด รวมทั้งโปรตีนที่ส่งสัญญาณเคมีบางตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งระยะลุกลาม (metastasis)


ดร.แคโรไลน์ เอช. จอห์นสัน นักระบาดวิทยาผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล บอกว่า “ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการนี้ ไม่ได้หมายความว่าสารเคมีชั่วนิรันดร์จะกระตุ้นให้มะเร็งลุกลามได้ในชีวิตจริงเสมอไป แต่มันบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยชี้ให้เราเห็นถึงกลไกเริ่มแรกที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราได้”


ผลการศึกษาของสวีเดนเมื่อปี 2022 ชี้ว่า ขณะนี้ไม่มีสถานที่แห่งใดบนโลกปลอดจากสารเคมีชั่วนิรันดร์อีกแล้ว โดยพบการปนเปื้อนในน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วโลก ซึ่งสูงเกินระดับความปลอดภัยตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดไว้มาก

บรรยายภาพ : สารเคมีชั่วนิรันดร์ยังพบได้ในเครื่องครัวเคลือบเทฟลอน และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายชนิด   

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า หากได้รับสารกลุ่ม PFAS ในปริมาณสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด รวมทั้งเสี่ยงต่อปัญหาการเจริญพันธุ์และพัฒนาการที่ล่าช้าในเด็ก แต่ก็มีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างสารกลุ่ม PFAS กับโรคดังกล่าวแต่อย่างใด


เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา องค์การเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ หรือ IARC จัดให้กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก (PFOA) ซึ่งเป็นสารเคมีชั่วนิรันดร์ชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และจัดให้กรดเพอร์ฟลูออโรออกเทนซัลโฟนิก (PFOS) สารเคมีชั่วนิรันดร์ที่พบได้บ่อยอีกชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มที่อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :www.bbc.com/


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ : GETTY IMAGES