อันตรายจากสารพิษในบุหรี่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนสารพิษในบุหรี่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตห่างไกลโรค
                นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า ควันบุหรี่เป็นผลผลิตของสารที่เกิดจากการเผาไหม้ นิโคติน และ alkaloids และยังมีสะสารในควันบุหรี่หลายชนิดสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  ควันบุหรี่ยังมีสารออกซิแดนซ์ที่มีความเข้มข้นสูง ทำอันตรายต่อผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบนำไปสู่โรคผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และกระตุ้นเกล็ดเลือดและการเกิดลิ่มเลือด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) ในควันบุหรี่จะจับกับฮีโมโกลบินอย่างแน่น และมีผลลดความสามารถในการนำและปลดปล่อยออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ทำให้มีผลต่อการขาดเลือดมากขึ้น ผู้ที่สูบบุหรี่บางรายจะตอบสนองโดยเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงเข้มข้น (polycythemia) ทำให้มีความหนืดของเลือดมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะเลือดเกิดการแข็งตัวได้ง่าย (hypercoagulable state)
          ในปัจจุบันเชื่อว่า free radical เป็นตัวการสำคัญในการเกิดผนังหลอดเลือดแดงแข็งที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ กลุ่มอาการของผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การเสียชีวิตแบบกะทันหันและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้เกิดอาการปวดขาจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องและการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
          นอกจากนี้ ทาร์ ยังเป็นสารก่อมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไนโตรเจนไดออกไซค์ จะทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง  ไฮโดรเจนไซยาไนต์   ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง จะเห็นได้ว่าสารพิษในบุหรี่มีมากมาย
          นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยมีความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน ในการทำงานของเยื่อหลอดเลือดผิดปกติ มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด และการเปลี่ยนแปลงของไขมันมีการเพิ่มขึ้นของระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับของไตรกลีเซอไรด์อย่างชัดเจน แต่จะมีการลดลงของคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) มีผลในการเกิดผนังหลอดเลือดแดงเสื่อมและมีผนังหลอดเลือดแดงแข็งตามมา อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและการเสียชีวิตแบบกะทันหัน
          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary) เกิดเป็นคราบเกาะผนังด้านในหลอดเลือดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้รูหลอดเลือดค่อย ๆ ตีบลง จนทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่สะดวก และการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจลดน้อยลงและหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอจนอาจทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกกำลังและดีขึ้นเมื่อได้พักหรืออมยาขยายหลอดเลือด ซึ่งมีลักษณะอาการเรื้อรัง
          อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันรุนแรงชนิดเฉียบพลันที่เกิดจากการปริแตกของผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเฉียบพลัน หากปล่อยทิ้งไว้หรือรู้ตัวช้า และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามเวลาอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และบางรายเสียชีวิตกะทันหันจากการเต้นผิดปกติของหัวใจห้องล่างชนิดร้ายแรง
          การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถลดอัตราการเกิดโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้  การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ดังนี้ 1. ปรับพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงลดอาหารที่หวานจัด เค็มจัด 2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 30 นาทีต่อวัน 3.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 4. หลีกเลี่ยงความเครียด 5. งดการสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 6. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกทั้งหากพบว่าตนเองมีอาการบ่งชี้ที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัย และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
          หากท่านที่มีความประสงค์ต้องการเลิกบุหรี่ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้บริการคลินิกอดบุหรี่ ในทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยมีบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ จากบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งมีบริการอดบุหรี่ด้วยยา ในทุกวันจันทร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2547 0999 ต่อ 30927