สมุนไพรใกล้ตัว อีกทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

 

ในปัจจุบันประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ ใกล้ตัวมากมาย สมุนไพรไทยถือเป็นทางเลือกที่คนทั่วไปนิยมใช้ดูแลสุขภาพในเบื้องต้น วันนี้เราขอแนะนำสมุนไพรดังกล่าวสามารถหาซื้อได้จากท้องตลาดทั่วไปและสามารถปลูกได้เองที่บ้าน  ดังนี้
          1. ว่านหางจระเข้  หรือ วุ้นของว่านหางจระเข้  ใช้รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลไหม้เกรียมจากแสงแดด แผลการฉายรังสี และแผลที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย : เลือกใบต่ำสุด นำมาล้างให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุก หรือด่างทับทิม ฝานเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้ปิดแผลพันทับด้วยผ้าพันแผลให้ชุ่มในชั่วโมงแรก เปลี่ยนวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น จนกว่าแผลจะหาย ในกรณีแผลไหม้เกรียมให้นำวุ้นมาผสมกับขี้ผึ้ง
          อย่างไรก็ดี ก่อนใช้ว่านหางจระเข้เป็นยาทาภายนอกควรทดสอบอาการแพ้ก่อน โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าผิวไม่คันหรือแดงก็ใช้ได้ หรือควรชิมวุ้น ถ้ามีรสขมแสดงว่ายังมียางอยู่ ควรล้างให้หมดรสขม

          2.ขิง มีรสเผ็ดร้อนหวาน ใช้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ท้องผูก ขับลม คลื่นไส้อาเจียน และอาการเมารถเมาเรือ  โดยนำเหง้าขิงแก่สด 50 กรัม ทุบให้แตก นำไปต้มกับน้ำ 2 แก้ว รินดื่มแต่น้ำ วันละ 3 ครั้ง
          อย่างไรก็ดี การใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมาก ๆ จะให้ผลตรงข้าม คือ จะไประงับการบีบตัวของลำไส้จนทำให้ลำไส้หยุดบีบตัว ดังนั้น การดื่มน้ำที่สกัดจากขิงไม่ควรใช้น้ำเข้มข้นมากเกินไป เพราะจะไม่ให้ผลในการรักษาตามที่ต้องการ

          3. ตะไคร้ ใช้ แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้คลื่นไส้ อาเจียน    ใช้ลำต้นแก่บนดินและเหง้าสดหรือแห้ง 1 กำมือ ตัดเป็นท่อนทุบพอแหลก ต้มเดือดประมาณ 3-5 นาที ดื่มแต่น้ำ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร หรือใช้หัวตะไคร้ ลำต้นที่ทอดนอนอยู่ใต้ดิน หั่นเป็นแว่นบาง ๆ คั่วจนเหลือง ชงน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา เพื่อแก้โรคทางเดินปัสสาวะพิการ นิ่ว และขับเหงื่อ
          อย่างไรก็ดี เมื่อนำไปใช้ในการปรุงอาหาร จะทำให้เพิ่มรสชาติ ดับกลิ่นคาว ทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม "น้ำตะไคร้" เพิ่มรายได้ให้ครอบครัวได้อีกด้วย

          4.ใบบัวบก ใช้บัวบกสด 1 กำมือ (10-20 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำเติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย ดื่มวันละ 3 ครั้งติดต่อกัน 1-2 วัน สามารถรักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น แก้ร้อนใน และช่วยกระหายน้ำได้  หรือใช้บัวบกสด 2 กำมือ คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน จะช่วยแก้อาการช้ำใน ลดความดันโลหิต  นอกจากนี้ ยังรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก  โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้

          5. ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรยอดฮิตสำหรับโควิด-19 แต่ถ้าโบราณให้ใช้ครั้งละ 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือเวลามีอาการ จะช่วยแก้ไข้ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ท้องเดินโดยใช้ต้นแห้งทั้งต้นหั่นเป็นชิ้นประมาณ 1-3 กำมือ (3-4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม
          อย่างไรก็ตาม ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ ดังนั้น ในคนไข้ที่มีความดันเลือดต่ำ เช่น 90/60 มม.ปรอท ไม่ควรใช้ เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ฟ้าทะลายโจรควรวัดความดันเลือดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย หน้ามืดและเป็นลมง่าย บางคนรับประทานยานี้แล้วอาจจะเกิดอาการปวดท้องเล็กน้อย ท้องเสีย ปวดเอว เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นให้หยุดยา หรือลดขนาดของยา โดยทั่วไปเมื่อหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-3 วัน

          6. มะระขี้นก ทั่วไปจะนำผลและใบลวกจิ้มน้ำพริก หรือใช้ปรุงอาหารทานเป็นประจำ เป็นการลดน้ำตาลในเลือด ทางการแพทย์ใช้รักษาโรคเบาหวานมาแต่โบราณ หรือใช้น้ำคั้นจากผลสด 1 แก้ว ผสมน้ำรับประทาน แก้บิด  นอกจากนี้ ยังใช้ใบสดและผลสดตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน   แก้จุกเสียด แน่นท้อง บำรุงธาตุ ขับลม รวมทั้งลดอาการอักเสบ โดยใช้ผลสดตำให้ละเอียด นำไปพอกบริเวณที่เป็นแผล ลดอาการอักเสบและเป็นหนองได้ ใช้ใบแห้งบดเป็นผงชงเหล้ากิน

          7. ตำลึง จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ทั้งนี้ ควรรับประทานสด ๆ เพราะเอนไซม์ในตำลึงจะย่อยสลายง่ายเมื่อโดนความร้อน รวมทั้งรักษาโรคเบาหวาน โดยใช้เถาแก่ ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จะสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการคัน อาการอักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อยและพืชมีพิษ : นำใบตำลึงสด 2-20 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ คั้นเอาน้ำ ทาบริเวณที่เป็นจนกว่าจะหาย (ใช้ได้ดี สำหรับมดคันไฟ หรือใบตำแย)
          สำหรับผู้ต้องคุมน้ำหนัก  ตำลึงช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้ง เพราะในใบและเถามีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ซึ่งช่วยในการย่อยแป้งได้

          8. กะเพราแดง มีรสเผ็ดร้อน  ใช้ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง โดยใช้ใบสด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ  25 กรัม หรือใบแห้ง 4 กรัม ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือจะใช้ใบกะเพราแห้งชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน  และใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) โดยใช้ใบและยอดสด 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้กะเพราทั้ง 5 ทั้งสดหรือแห้ง ชงน้ำดื่มรับประทาน เด็กอ่อนใช้ใบสด 3-4 ใบ ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กำมือ หรือใบสด 25 กรัม หรือผงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 ช้อนแกง

          9.กระชายขาว  จากผลการวิจัยในหลอดทดลอง กระชายขาว มีสารพิโนสโตบิน เเละแพนดูราทินเอ ที่สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้  นอกจากนี้ ยังช่วยต้านอาการหวัด เเก้วิงเวียนศีรษะ เเละลดไขมันในเลือดได้  ช่วยลดอาการเหงือกอักเสบ หรือมีเเผลในช่องปาก โดยใช้กระชายขาวทุบให้ละเอียดเเละต้มให้เดือด เเละใช้บ้วนปาก  เเก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย โดยนำเหง้ากระชายขาวไปปิ้งไฟ เเละตำอย่างละเอียด นำมาผสมกับน้ำปูนใส เเละคั้นดื่ม
          ทั้งนี้ หากทำทานเองต้องทานแบบต้มสุกหรือปรุงเป็นอาหาร ไม่ควรทานติดต่อกันเกิด 7 วัน ควรระวังการใช้กระชายขาวกับผู้มีปัญหาเกี่ยวกับตับอักเสบ ผู้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรอยู่  ระวังการทานกระชายขาวในประมาณที่มากเกินไป จะทำให้มีฤทธิ์ร้อนในร่างกายมาก อาจจะเกิดปัญหาใจสั่นตามมา
          อย่างไรก็ตาม  สมุนไพรมีคุณประโยชน์ช่วยรักษา บรรเทาอาการต่าง ๆได้มาก  แต่ควรที่จะรับประทานอย่างพอดีเเละเหมาะสม ไม่ควรทานมากเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้