"มาลาเรียขึ้นสมอง" ไขอาการบุคลิกภาพเปลี่ยน เพ้อ สับสน หวาดระแวง เห็นภาพหลอน

"โรคมาลาเรีย" เกิดจากการที่ยุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่ร่างกาย หลังจากปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคมาลาเรีย ทำให้มีไข้สูง ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ "ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง"
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคมาลาเรียถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยแถบเส้นศูนย์สูตร แม้ว่าจะมีการรู้จักและเข้าใจโรคมาลาเรียมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีผู้เสียชีวิตในระดับหลักล้านคนต่อปีทั่วโลก "ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง" ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการติดเชื้อมาลาเรีย โดยปกติจะมีแค่เชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม ที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียขึ้นสมอง
          "โรคมาลาเรีย" เกิดจากเชื้อที่เรียกว่าพลาสโมเดียม ซึ่งในมนุษย์มีเชื้อมาลาเรียที่ติดต่อได้ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
          1. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลซิปารัม
          2. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์
          3. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ
          4. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล
          และอาจพบเชื้ออีกชนิดที่มาจากลิงสู่คนเรียกว่า เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ ซึ่งในทั้งหมดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงที่สุด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบจนถึงอาการทางสมองและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

          ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านไปยังเซลล์ตับและเข้าไปอาศัยในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรียไปอุดกั้นระบบไหลเวียนขนาดเล็ก ทำให้สมองขาดเลือดไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ในบางรายมีลักษณะความดันในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมสับสน ภาวะเพ้อ เกิดอาการชัก ในกรณีนี้แม้จะมีการอุดกั้นเกิดขึ้นแต่ลักษณะการอุดกั้นไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ จึงไม่ได้พบผู้ป่วยที่มีลักษณะแขนขาอ่อนแรงเหมือนในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ อาการอย่างอื่นที่สามารถพบได้ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามตัว คอแข็ง บางรายอาจมีอาการกัดฟันค้าง ไม่เปิดปาก หรืออาจมีอาการเกร็งของร่างกายผิดปกติ อาการอย่างอื่นที่อาจตรวจเจอร่วม ได้แก่ ตับโต ตัวเหลือง ปอดมีน้ำคั่ง ไตวาย น้ำตาลในเลือดต่ำ มีเลือดออก หรือความดันตก
          ในการวินิจฉัยประวัติคือส่วนสำคัญ การตรวจเจอเชื้อในเลือด โดยการดูผ่านสไลด์จะเป็นวิธีที่ยืนยันการวินิจฉัยได้ดีที่สุด ในผู้ป่วยมาลาเรียอาจจะมีลักษณะอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง หลงผิด บุคลิกภาพเปลี่ยน เห็นภาพหลอน ภาวะสับสน ซึมเศร้า
          ภาวะดังกล่าวอาจไม่ได้เจอบ่อย มักจะเจอในช่วงที่กำลังหายจากโรค หรือช่วงที่ขณะให้ยารักษามาลาเรียบางชนิด เนื่องจากภาวะมาลาเรียขึ้นสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินถ้าได้รับการยืนยันการวินิจฉัย ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เหมาะสม และคอยสังเกตภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.tnnthailand.com/news/health/122689/