การแท้งบุตร ประมาณ 50% เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี และคู่สมรสที่อายุมากก็มีโอกาสแท้งมากขึ้น การแท้งลูกอีก 50% ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ถ้าคุณแม่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว อาจเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดได้
สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย คือ คุณแม่เป็นโรคลูปัส ซึ่งเป็นภาวะภูมิแพ้ตัวเอง โรคเบาหวาน หรือโรคต่อมไร้ท่ออื่น ๆ มีการติดเชื้อ ปัญหาฮอร์โมน หรือความผิดปกติของมดลูก บางครั้งเกิดภาวะไข่ฝ่อในช่วงแรกของการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจึงไม่เจริญเติบโตตามปกติ เหลือเพียงรกและถุงน้ำคร่ำที่เติบโต เรียกกันว่า ท้องลม จะพบในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
โดยทั่วไปการแท้งลูกจะเกิดในช่วงไตรมาสแรก หรือภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนมีความพัฒนาการผิดปกติ หากการแท้งลูกเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เดือน หรือเดือนที่ 4-6 สาเหตุมักจะมาจากปัญหาสุขภาพของแม่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของการแท้งลูก คือ อายุของแม่ช่วงตั้งท้อง ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุของแม่ ยิ่งแม่อายุมากจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าแม่อายุน้อย เป็นที่รู้กันว่า การสูบบุหรี่ แม่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และการตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี เป็นปัจจัยเสี่ยงแท้งลูก
ปัญหาทางพันธุกรรมหรือโครโมโซมของตัวอ่อนผิดปกติ
สาเหตุของการแท้งจากความผิดปกติในโครโมโซม โครโมโซมทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่ เซลล์ในร่างกายมีการแบ่งตัวพัฒนาสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารก ในคนปกติโครโมโซมจะมีอยู่ 46 โครโมโซม แบ่งเป็น 22 คู่ ที่มาจากพ่อและแม่ และคู่ที่ 23 จะเป็นโครโมโซมเพศ ที่จะเป็น XY หรือ XX ที่ระบุได้ว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย ถ้ากระบวนการนี้ไม่สมบูรณ์ มีขาข้างใดข้างหนึ่งบกพร่อง อาจทำให้เกิดการแท้งตามมา
บางครั้งการแท้งนั้นมาจากอสุจิหรือเซลล์ไข่ผิดปกติ
โครโมโซมผิดพลาดอาจเป็นสาเหตุของการแท้ง ทำให้คู่สมรสมีบุตรยาก บางคู่แท้งซ้ำ ๆ เนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม จำเป็นต้องใช้วิธีทำเด็กหลอดแก้วหรือวิทยาการทางการแพทย์อื่น ๆ ช่วยคัดเลือกตัวอ่อนผสมเทียมในหลอดแก้ว แล้วนำตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุด เลือกออกมาฝังตัวในมดลูกแม่ต่อไป
โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Collagen vascular disease)
โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือเรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง เป็นอีกสาเหตุของการแท้งลูก เนื่องจากร่างกายของหญิงตั้งครรภ์สร้างแอนติบอดีเพื่อให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้ ทำให้ร่างกายของคุณแม่ยอมรับตัวอ่อนว่าไม่เป็นอันตรายต่อตัวแม่ เมื่อร่างกายสร้างสารแอนติบอดีจำนวนมากทำให้เกิดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงยังตัวอ่อนลดลง หากแพทย์วินิจฉัยพบปัญหาจะทำการรักษา โดยวิธีที่นิยมและได้ผล คือ รับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำ เพื่อเจือจางความเข้มข้นของเลือดเข้าไป ซึ่งแพทย์จะคอยตรวจวัดผลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเลือดออกมากผิดปกติ
โรคซีลีแอก หรือแพ้กลูเตน (Coeliac disease)
โรคซีลีแอกเป็นความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์และเสี่ยงแท้งลูกมากขึ้น 4-6 เท่า สาเหตุเกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายแพ้โปรตีนกลูเตนอยู่ในพืชตระกูลข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารจากพืชดังกล่าว ระบบภูมิคุ้มกันของผู้หญิงจะมีความไวสูงมากในระหว่างตั้งครรภ์ หากรับประทานอาหารกลุ่มนี้จะมีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนอื่นมากกว่าหญิงทั่วไป 2-4 เท่า มีโอกาสแท้งสูงหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
ความผิดปกติของมดลูก
บางกรณีสาเหตุการแท้งมาจากรูปร่างของมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้เลือดและสารอาหารส่งไปเลี้ยงให้ทารกในครรภ์เติบโตแข็งแรง แม้ว่าจะผ่านช่วง 2-3 สัปดาห์แรกไปแล้ว แต่ก็รักษาเด็กเอาไว้ไม่ได้ แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดในการแก้ไขขนาดและลักษณะรูปร่างของมดลูกให้เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลองตั้งครรภ์อีกครั้ง
โรคเบาหวาน
ระหว่างตั้งครรภ์ถ้าแม่ท้องควบคุมเบาหวานได้ดี โอกาสแท้งจะน้อยลง โดยภาวะเบาหวานเองไม่ได้ทำให้แท้ง แต่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เป็นอาการแทรกซ้อน คุณแม่ควรวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ในช่วงแรกไปจนกระทั่งคลอด ส่วนเด็กทารกเกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวานจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังคลอดทันที เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ส่งผลต่อสุขภาพของทารก
เสี่ยงภาวะติดเชื้อ
แม่ตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิดในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะแท้งลูกได้ การติดเชื้อบางชนิดไม่แสดงอาการในตัวแม่เลย แต่ติดเชื้อเข้าไปในมดลูก คือ ผ่านทางรกหรือไปทางปากมดลูก รวมทั้งเกิดการติดเชื้อในรกหรือในตัวอ่อน โรคอาหารเป็นพิษจากแบคทีเรียบางชนิด เช่น Listeria และ Salmonella เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งเช่นเดียวกัน โรคติดเชื้อที่ต้องระวัง ได้แก่ คางทูม หัดเยอรมัน เชื้อเริม โรคเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นการติดเชื้อในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ยิ่งอันตราย จำเป็นต้องทดสอบเลือดเพื่อประเมินระดับภูมิต้านทานของแม่ต่อเชื้อเหล่านี้
ภาวะระบบฮอร์โมนไม่สมดุล
ผู้หญิงบางคนมีปัญหาระบบการทำงานของรังไข่และฮอร์โมนผิดปกติ มักเกิดจากรังไข่ผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่เพียงพอเพื่อที่จะสนับสนุนให้ตัวอ่อนในระยะแรกเติบโตต่อได้ หากฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจเสี่ยงแท้งลูกได้ง่าย ร่างกายต้องมีสมดุลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งจำเป็นมากในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก ถ้ามีมากไปหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้แท้งลูกได้
ไลฟ์สไตล์ของแม่ตั้งครรภ์
การสูบบุหรี่ การดื่มคาเฟอีนมากเกินไป การใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มโคเคน การสัมผัสกับรังสีหรือสารพิษที่เป็นอันตราย การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป แน่นอนว่าทั้งหมดส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากเลือดไหลเวียนส่งผ่านรกไปเลี้ยงตัวอ่อนน้อยลง ทำให้การแบ่งเซลล์ไม่สมบูรณ์
เกิดอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันมีโอกาสที่จะเกิดการแท้งได้ แม้ว่าตัวอ่อนจะถูกปกป้องอย่างดีในกระดูกบริเวณเชิงกรานและเนื้อเยื่อของมดลูก แต่ถ้ามีแรงกระแทกที่รกและตัวอ่อนหลุดออกมาเป็นสาเหตุให้แท้งได้ โดยมากจะเกิดจากอุบัติเหตุขณะนั่งมอเตอร์ไซค์ หรือถูกกระแทกที่ท้องน้อยช่วงล่าง
อาการแท้งที่แม่ควรรู้
อาการแท้งของแต่ละคนแตกต่างกัน อาการที่พบได้บ่อย คือ มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นสัญญาณว่ากำลังแท้งลูก เลือดออกตั้งแต่ระดับน้อยเป็นสีชมพู จนถึงมีเมือกในช่องคลอดและมีเลือดสีแดงสด บางคนมีลิ่มเลือดออกมาด้วย โดยเฉพาะหลังจากนอนนาน ๆ พอลุกขึ้นยืนจะมีออกจากช่องคลอดมาก มีอาการปวดท้อง เป็นตะคริวคล้ายปวดประจำเดือนและปวดหลังด้วยได้ รวมถึงระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์หลังจากแท้งลูก
หลังแท้งลูก เริ่มต้นตั้งครรภ์ใหม่ได้ตอนไหน
ถ้ายังมีอาการเลือดไหลและมีถุงน้ำคร่ำตกค้าง ต้องตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ให้ละเอียด แพทย์จะทำการขูดมดลูก ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดขนาดเล็กโดยใช้ยาสลบ เพื่อนำสิ่งตกค้างในมดลูกออกให้หมด เตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์รอบใหม่ ส่วนใหญ่มีเลือดออกทางช่องคลอด 2-3 วัน หลังจากแท้ง จากนั้นเลือดจะหายไป ตราบใดที่ยังมีระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ในเลือด ยังไม่มีการตกไข่และไม่มีประจำเดือนนะคะ ส่วนใหญ่แล้วต้องรอประมาณ 10 วัน กว่าที่ฮอร์โมนตั้งครรภ์จะค่อย ๆ ลดลงเป็นปกติ หลังจากนั้น 4-6 สัปดาห์ จึงจะมีประจำเดือนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวงจรการตกไข่และมีโอกาสตั้งครรภ์รอบใหม่นั่นเอง
แนะนำให้คู่สมรสพยายามวางแผนตั้งครรภ์รอบใหม่ให้เร็วที่สุดหลังจากแท้งไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องรออะไร เพราะการแท้งลูกครั้งก่อนไม่มีผลต่อการตั้งครั้งรอบใหม่ ไม่ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกครั้งต่อไป แต่แพทย์อาจแนะนำว่ารอสัก 3-4 เดือน เพื่อให้วงจรรอบเดือนกลับมาเป็นปกติ มีการตกไข่และฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เป็นปกติจริง ๆ สิ่งสำคัญ คือ รอให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นก่อน ฟื้นฟูร่างกายและภาวะอารมณ์เพื่อให้เต็มที่สำหรับการตั้งครรภ์รอบใหม่ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการแท้ง ต้องรักษาให้หายดีก่อน บำรุงสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้การตั้งครรภ์อีกครั้งผ่านไปด้วยดี
แม่แท้งลูกรู้สึกเศร้า จะทำอย่างไร
การแท้งลูกเป็นเรื่องเศร้าที่อาจทำลายความสัมพันธ์ของสามีภรรยา ทั้งคู่ต้องเข้มแข็งแล้วผ่านคืนวันร้าย ๆ ไปด้วยกัน การดูแลร่างกายของคุณแม่หลังแท้งลูกเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรละเลยการให้กำลังใจเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น พูดคุยกับคนในครอบครัวและปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวางแผนตั้งครรภ์ครั้งต่อไปนะคะ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.huggies.co.th/th-th/pregnancy/1-3-months/causes