โรคลมหลับ

โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างผิดปกติ  ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายหลับ (คือ มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เป็นต้น) ขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และไม่ว่าจะนอนเท่าใดก็ยังรู้สึกง่วง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก อาจเกิดการหลับในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมและอันตรายได้ เช่น ขับรถ กำลังผ่าตัดผู้ป่วย


สาเหตุของโรค


       ยังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้มีความผิดปกกติที่สมองควบคุมการหลับและตื่น โดยมีการหลับแทรกเข้ามาในขณะที่ยังตื่นอยู่ อาการของโรค เช่น ง่วงนอนตลอดเวลา แขนขาอ่อนแรงขณะจะตื่น (ผีอำ) เห็นภาพลวงตาช่วงที่จะหลับ


         โรคนี้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช พบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยบางรายมีสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า hypocretin ต่ำกว่าปกติ นักวิจัยบางรายได้เสนอว่า โรคนี้เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยภายนอกบางอย่าง


อาการของโรค


- ง่วงนอนมากผิดปกติ มักเป็นอาการแรกของผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ป่วยจะหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในห้องเรียน หลังอาหาร โรงภาพยนตร์ ขณะเขียนหนังสือ หรือแม้แต่ขณะกำลังสนทนา การนอนช่วงสั้น ๆ จะช่วยให้สดชื่นขึ้นได้


- Cataplexy (ผลอยหลับ คือ มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เวลาที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นต้น)


- Sleep paralysis (ผีอำ) เป็นภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น (คล้ายผีอำ) เป็นอาการที่น่าตกใจแต่ไม่อันตราย


- Hypnagogic hallucination (เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ) เห็นภาพหลอนขณะที่กำลังจะหลับ โดยอาจเห็นเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ ได้

อาการอื่น ๆ ของโรค


- พฤติกรรมที่ทำโดยไม่รู้สึกตัว ขณะหลับอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ขับรถ ทำอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้


- นอนไม่หลับในเวลากลางคืน สมองควบคุมการหลับตื่นผิดปกติ ทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืนได้


- ไม่มีสมาธิ


- ปวดศีรษะ


- ขี้ลืม


- ซึมเศร้า


การให้การวินิจฉัย


     การวินิจฉัยโรคลมหลับ ทำได้โดยตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) และตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test (MSLT) ในเช้าวันรุ่งขึ้นต่อจากการตรวจการนอนหลับ โดยผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการตรวจประเมินว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ก่อนตรวจการนอนหลับ โดย MSLT จะตรวจโดยให้ผู้ป่วยงีบประมาณ 20 นาที ห่างกันทุก 2 ชั่วโมง จำนวน 4-5 รอบ และบันทึกผล


การรักษา


        ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติ ได้แก่


1.การรักษาภาวะง่วงนอนมากกว่าปกติ


- โดยใช้ยา การใช้คาเฟอีนมักไม่ได้ผล ยาที่ใช้ได้ผล  คือ ยากระตุ้นประสาท เช่น methylphenidate, amphetamine, modafinil


- พฤติกรรมบำบัด เช่น


- การนอนและตื่นให้เป็นเวลาสม่ำเสมอทุก ๆ วัน


- งีบหลับในตอนกลางวัน


- ระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายหากมีอาการของโรคเกิดขึ้น เช่น การขับรถ การทำอาหาร


2.การรักษาภาวะผลอยหลับ


-โดยการใช้ยา เช่น venlafaxine


ปัจจัยที่ส่งเสริมการรักษา


       ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแก่ผู้ป่วย ครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงาน หากเป็นเด็กควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบด้วย


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh