จากเด็กชอบต่อเลโก้ สู่นักวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไทยในอังกฤษ

“เรารู้สึกว่านี่แหละคือทางของเรา เรารู้สึกว่าสนุกกับมัน”

จากความชอบในการเล่นเลโก้ สู่การเดินตามความฝันเพื่อเป็นนักวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์


          บีบีซีไทย คุยกับ อ.ดร.เชน ตรีรัตนกุลชัย นักวิจัยหุ่นยนต์คนไทย หนึ่งในทีมวิจัย Soft Robotic แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 คำตอบที่ลงตัว สำหรับความคาดหวังของพ่อ-แม่  


         อ.ดร.เชน เกิดในครอบครัวคนจีน พ่อแม่คาดหวังให้เขาเรียนจบสูง ๆ ออกมาเป็นหมอหรือวิศวะ ทว่า เขารู้ดีว่าตัวเองไม่ถนัดด้านการแพทย์ แต่เขาชอบเล่นตัวต่อเลโก้ตั้งแต่เด็ก ใฝ่ฝันที่จะเติบโตมาในสายงานวิศวะมากกว่า หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเลือกที่จะสอบเข้าในคณะวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล


วิศวกรรมชีวการแพทย์ คืออะไร


          หลายคนอาจสงสัยว่าวิศวกรรมชีวการแพทย์คืออะไร อ.ดร.เชนอธิบายว่า เป็นการหลอมรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทางด้านการแพทย์ เพื่อนำมาสู่การแก้โจทย์ต่าง ๆ ในทางการแพทย์ เป็นส่วนเสริมทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


          โดยปีแรกจะเป็นการเริ่มเรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ พอปีสูงขึ้นก็จะมีการเสริมด้านวิศวกรรม รวมไปถึงด้านการแพทย์อย่างสรีรวิทยาและกายวิภาค ทำให้เขาได้คลุกคลีกับ “อาจารย์ใหญ่” หรือ ศพที่ถูกบริจาคมาเพื่อการศึกษา เหมือนกับคนเรียนแพทย์ พยาบาล


         “เรารู้สึกว่านี่แหละคือทางของเรา เรารู้สึกว่าสนุกกับมัน” อ.ดร.เชนบอกเล่าถึงความสุขในการเรียนคณะนี้ โดยศาสตร์ที่ อ.ดร.เชนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือด้าน Surgery Robot หรือ หุ่นยนต์ผ่าตัด


หนึ่งในทีมวิจัย Soft Robotic ที่ลอนดอน


          หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยมหิดล อ.ดร.เชนได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้มาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2017 ที่นี่เองทำให้เขาได้รับโอกาสในการทำวิจัย Soft Robotic ที่ชื่อว่า Robogast


          อ.ดร.เชนอธิบายว่า Soft Robotic คือหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามสภาพแวดล้อม ทำให้มันสามารถเข้าไปภายในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อนได้ รวมถึงมีลักษณะนุ่ม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดในคนไข้ได้ แตกต่างจากหุ่นยนต์ผ่าตัดในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มีลักษณะแข็ง


         ถึงแม้ตอนนี้ Robogast ของ อ.ดร.เชนจะอยู่ในขั้นเริ่มต้นพัฒนา ทว่า เขาก็คาดหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความรู้ที่อาจมีใครบางคนมาหยิบไปใช้ และนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงได้

Robogast หุ่นยนต์ตัวต้นแบบที่ อ.ดร.เชนกำลังพัฒนาอยู่


 


ฝันที่จะทำหุ่นยนต์ผ่าตัดฝีมือคนไทย


          ปัจจุบันหลังจบการศึกษาปริญญาเอกจาก อิมพีเรียล คอลเลจ  อ.ดร.เชนเดินทางกลับมาทำงานในไทย ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งความรู้ที่เขามีให้กับเด็กรุ่นใหม่


          เขาคาดหวังที่จะทำให้วงการนักวิจัยหุ่นยนต์ในไทยพัฒนาขึ้น พร้อมกับความหวังสูงสุดที่จะทำให้ไทยได้มีหุ่นยนต์ผ่าตัดฝีมือคนไทยเป็นตัวแรก


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/c72r9q0p3q3o