PM 2.5 ภัยเงียบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก อันตรายมากกว่าที่คุณคิด!

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาฝุ่นควันปกคลุมหนาไปทั่วทุกพื้นที่ ในตอนนั้นเอง หลาย ๆ คนคงเพิ่งได้รู้จักกับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้คนไทยไม่น้อย แถมสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย หลายคนคงมีคำถามว่าทำไมเจ้าฝุ่นถึงกลับมาอีกครั้ง? แล้วจะวนกลับมาแบบนี้ทุกปีเลยไหม? บทความนี้มีคำตอบค่ะ พร้อมทั้งมีเกร็ดความรู้ และวิธีป้องกัน PM2.5 มาฝากอีกด้วยค่ะ



PM 2.5 คืออะไร? เกิดจากอะไร?
            PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters หรือฝุ่นละออง ส่วนตัวเลข 2.5 คือ ขนาดของฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากถามว่า 2.5 ไมครอนนี้เล็กขนาดไหน ก็คงเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เรียกได้ว่าเล็กจนขนาดขนจมูกของคนเรา ซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้น ไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้เลยล่ะค่ะ
            ด้วยขนาดที่เล็กมากของฝุ่น PM2.5 ซึ่งลอยอยู่ในอากาศร่วมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซต่าง ๆ จึงทำให้แพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอันตรายอื่น ๆ ที่เคลือบอยู่บนผิวของฝุ่นเข้ามาอีกด้วย เช่น สารปรอท สารโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ซึ่งสารเหล่านี้ส่งผลเสียกับร่างกายเป็นอย่างมาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5
• ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ
• ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
• การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์
• การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน
• กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
“จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ต้นกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหมเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดควันดำและฝุ่น และอีกราว 35% มาจากการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง และการก่อสร้าง”
PM 2.5 จะกลับมาช่วงไหนของทุกปี ? รู้ไว้จะได้รับมือทัน
             จริง ๆ แล้ว ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิดนะคะ แต่ปัญหาฝุ่นนี้มีมานานแล้วค่ะ เพียงแต่ฝุ่นเหล่านี้มีปริมาณน้อย จึงทำให้มองไม่เห็น อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือเฉพาะทางด้วย จนกระทั่งเมื่อ 1 – 2 ปีมานี้ ปัญหาฝุ่นนี้กลับรุนแรงขึ้น ปกคลุมหนาไปทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร จนหลายคนสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ จึงทำให้หันมาตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้นั่นเอง
“ PM 2.5 จะวนกลับมาเรื่อย ๆ ตราบใดที่คนยังคงมีโรงงานอุตสาหกรรม ยังใช้รถ ใช้น้ำมัน – ก๊าซ อย่างไม่ตระหนัก และไม่มีมาตรการไหนควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะเป็นช่วงที่ฝุ่นระบาดหนักที่สุดในรอบปี”
แล้วทำไมฝุ่นถึงมาทุกฤดูหนาว?
             เพราะว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือที่เคลื่อนตัวลงมาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ทำให้พื้นดินคายความร้อนออกมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย ความกดอากาศที่ปกคลุม ปิดกั้นไม่ให้อากาศร้อนและฝุ่นต่าง ๆ ที่สะสมตัวอยู่ภายในอากาศไหลผ่านไปได้ (อากาศปิด) จึงทำให้ฝุ่นเหล่านั้นไหลย้อนกลับลงสู่พื้นดิน
ในทางกลับกัน พอเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายคนคงสังเกตว่าฝุ่นละอองจางลงอย่างเห็นได้ชัด หลายคนอาจคิดว่าเพราะได้น้ำฝนช่วยชะล้างฝุ่นในอากาศ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นแค่ส่วนน้อย สาเหตุหลักที่ทำให้ฝุ่นละอองลดน้อยลง นั่นก็เพราะว่าทุกครั้งที่ฝนตกจะนำลมมาด้วย ซึ่งลมเหล่านี้ก็ได้พัดฝุ่นละอองทั้งหลายให้ออกไปจากพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ท้องฟ้าจึงดูแจ่มใสกว่าปกติ แต่เมื่อฝนหยุดตกไปสักพัก ฝุ่นเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก
แต่ละพื้นที่มักเกิด PM2.5 ช่วงเวลาไหน?
• กรุงเทพมหานคร มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว
• ภาคตะวันออกและตะวันตก มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม เพราะได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตร เช่น ไร่อ้อย
• ภาคเหนือและภาคกลาง มักเกิดฝุ่นในช่วงมกราคม – เมษายน เนื่องจากได้รับความกดอากาศต่ำจากกรุงเทพมหานคร ที่แผ่ขึ้นไปยังภาคเหนือ
• ภาคใต้ มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ซึ่งมาจากการเผาพื้นที่การเกษตร และหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่พัดเข้ามา
วิธีเช็กค่า PM2.5
             อีกหนึ่งวิธีที่เราจะสามารถเช็กว่าวันไหนหรือช่วงไหนจะมีฝุ่น PM2.5 นี้มากหรือน้อย คือ การตรวจสอบค่า AQI (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งจะช่วยคำนวณสภาพอากาศ โดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ ได้แก่ PM1.0 / PM2.5 / ก๊าซโอโซน / ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ / ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ / ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

  ข้อมูลตารางจาก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ


             ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบผลกระทบต่อสุขภาพ โดยดัชนีคุณภาพอากาศที่มีค่าต่ำกว่า 100 หมายถึง อากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปเป็นปกติ หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่ามลพิษทางอากาศเกินกว่าระดับมาตรฐาน ในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังโดน PM 2.5 เล่นงานแล้วล่ะ!
             สำหรับใครที่กำลังคิดว่า PM2.5 ไม่อันตรายหรอก เป็นแค่ฝุ่นเอง ถ้าคิดอย่างนี้ล่ะก็ เปลี่ยนความคิดด่วนเลยค่ะ เพราะด้วยละอองฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ซึ่งฝุ่นพิษนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และในกรณีที่โหดร้ายที่สุด อาจจะเสียชีวิตจากแค่สิ่งที่เรียกว่าฝุ่นก็ได้นะคะ มาดูกันว่า อาการอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าคุณกำลังโดนเจ้าฝุ่นร้ายนี้เล่นงานอยู่

1.ตาแดง บริเวณเปลือกตาบวม ใต้ตาช้ำ สังเกตได้จากสีที่คล้ำขึ้น มีน้ำตาไหลบ่อย ๆ
2.ผิวหนัง เป็นตุ่มหรือผื่น นูนแดงกระจายไปทั่วบนผิวหนัง
3.รู้สึกคัน แสบ หรือแน่นในโพรงจมูก มีน้ำมูกแบบใส
4.ไอ จาม รู้สึกแน่นหน้าอก
5.ตัวร้อน มีไข้
ในช่วงแรกหลังจากที่ได้รับฝุ่น PM2.5 จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก แต่หากได้รับฝุ่นเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนสะสมในร่างกาย จะได้รับผลกระทบร้ายในระยะยาวทั้งภายในและภายนอก
• สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
• โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
• อาจเป็นโรคร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคมะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ
• ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ถ้าเป็นหนักมากอาจเกิดลมพิษบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ
• ทำร้ายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวอ่อนแอ เหี่ยวย่นง่าย
• หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดม PM2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์
“ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกได้สำรวจพบว่า มีประชากรที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคน ในแต่ละปี และในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กว่า 600,000 คน”
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจาก PM 2.5
              เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ปัญหาเรื่องมาตรการควบคุมก็ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับประชาชนธรรมดา ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือ การดูแลป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 นะคะ
1. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน
2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
3. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้
4. งดสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
5. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์
6. ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ หรือไปกลับทางเดียวกัน ใช้รถคันเดียวกันดีกว่า
7. สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป ไม่สามารถดักจับฝุ่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าปกติ ซึ่งสามารถกรอง PM2.5 ได้เท่านั้น
สรุป
             PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบร้ายกับร่างกาย อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถกำจัดฝุ่นควันเหล่านี้ให้หมดไปอย่างถาวรได้ ดังนั้น เราต้องดูแลตนเองและยุติพฤติกรรมที่ก่อมลพิษ และสำคัญที่สุด อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่นควันแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคต่าง ๆ มาอีกด้วยค่ะ


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://allwellhealthcare.com/pm25/