กรมการแพทย์ โดยร.พ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เตือน อาหารเสริม วิตามิน ที่อวดอ้างว่าทำให้สุขภาพตาและการมองเห็นดีขึ้น เห็นชัด หายจากโรคตาที่เป็นอยู่ ไม่มีจริง อย่าหลงเชื่อ แนะดูแลสุขภาพตาหากมีอาการผิดปกติ ควรพบจักษุแพทย์
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรไทย คือ ประมาณ 70 ปี เมื่ออายุยืนยาวขึ้น โรคในผู้สูงอายุย่อมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปวดหลัง กระดูกผุ ข้อเสื่อม เป็นต้น ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้การดำรงชีวิตของผู้สูงอายุยากลำบาก คือ ปัญหาตามัว เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีการคิดหาวิธีป้องกันรักษาเพื่อให้สุขภาพตาดี มีการมองเห็นดีขึ้น และหายจากโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันยาวิเศษแบบนั้นไม่มีอยู่จริง ในขณะที่โรคส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาได้ หากได้รับคำแนะนำและการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการดูแลสุขภาพโดยการใช้วิตามินหรืออาหารเสริม ข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่า วิตามินหรือสารอาหารบางชนิดอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกัน บำรุงสุขภาพ เฉพาะบางภาวะ บางโรคเท่านั้น และควรอยู่ในความควบคุมดูแลจากแพทย์ก่อนการใช้วิตามิน อาหารเสริมเพื่อความปลอดภัย
พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยขนาดใหญ่ในอเมริกาซึ่งสนับสนุนโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ชื่อ Age - Related Eye Disease Study(AREDS.2001-2006) ทดลองให้ผู้สูงอายุรับประทานวิตามินรวม (วิตามินซี 500 mg วิตามินอี 400 หน่วย IU เบต้าแคโรทีน 50 mg สังกะสี 80 mg) ทุกวันติดต่อกัน 5 ปี ผลคือ วิตามินรวม ไม่ช่วยชะลอหรือลดต้อกระจกที่มีอยู่เลย แต่ช่วยลดความเสี่ยงการลุกลามของโรคจุดรับภาพเสื่อมได้ 25% เฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลในการชะลอ หรือป้องกันต้อกระจก อย่างไรก็ตาม วิตามินหรืออาหารเสริมปัจจุบันที่จำหน่ายมักจะมีคำว่า อาจจะ กำกับอยู่ด้วย เช่น อาจช่วยชะลอต้อกระจก อาจมีส่วนช่วยการมองเห็น อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพตา เป็นต้น ดังนั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันว่า การรับประทานวิตามินใด ๆ ช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ ฉะนั้น หากมีอาการผิดปกติทางตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที สำหรับวิธีการดูแลดวงตา คือ สวมแว่นกันแดดเมื่อออกกลางแจ้ง รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ การรับประทานอาหารที่มีโอเมกา 3 สูง อาจช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้งสบายตาขึ้น อาการเคืองตาและตาแดงลดลง อาหารที่มีโอเมกา 3 สูง พบได้ในเนื้อปลาที่มีกรดไขมันดีสูง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า โปรตีนจากธัญพืชต่าง ๆ แหล่งอาหารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพดวงตา เช่น ผักโขม หรือผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ ผัก-ผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท ฟักทอง เป็นแหล่งของวิตามินเอสูง ดีต่อการทำงานของจอประสาทตา ที่สำคัญการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีการป้องกัน ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะโรคที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาที่จะตามมาในอนาคตได้