ป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบ เพื่อความปลอดภัยต่อสมอง

นกพิราบ เป็นตัวพาหะที่นำเชื้อโรคร้ายมาสู่มนุษย์ เนื่องจากมูลของนกพิราบ มีเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟรอร์แมนส์(Cryptococcus Neoformans) เมื่อมนุษย์ได้รับการสูดดม หรือสัมผัสเชื้อราตัวนี้ จะส่งผลให้มีการติดเชื้อที่บริเวณปอด และลุกลามไปยังสมองส่งผลให้เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้  ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของสมอง ควรรู้จักวิธีป้องกันเชื้อโรคที่มาจากนกพิราบ

โรคที่มาจากนกพิราบ


 1. โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)


          เกิดจากเชื้อรา Cryptococcus Neoformans ในมูลของนกพิราบ โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อปอด ก่อนจะแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด ไปยังอวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ ปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ มองเห็นไม่ค่อยชัด เป็นไข้ ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหลออกจมูก ในกรณีที่สมองติดเชื้อผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป


 2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ


        เกิดจากการสูดดมละอองของมูลนกพิราบชนิดแห้ง รวมทั้งการสัมผัสมูลของนกพิราบ สามารถติดเชื้อผ่านระบบทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแพ้แสง หากติดจากเชื้อไวรัส อาการจะไม่รุนแรง สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาได้  หากติดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรง เช่น ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต สมองพิการ สามารถเสียชีวิตได้


 3. ไข้หวัดนก


       เป็นการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในสัตว์ปีก ปกติแล้วจะติดต่อกันระหว่างสัตว์เท่านั้น แต่บางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ โดยเฉพาะไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะไอ คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น


 4. โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)  หรือโรคไข้นกแก้ว


       โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci ผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ อีกทั้งโรคไข้นกแก้วนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปอดบวม หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด สามารถเสียชีวิตได้


 5. ปอดอักเสบ


          โรคปอดอักเสบชนิดนี้เกิดจากการสูดดมเอาละอองสปอร์ เชื้อรา Cryptococcus Neoformans เช่นเดียวกับโรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)  ส่งผลให้เกิดอาการติดเชื้อที่ปอด ลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย  จนปอดเกิดการอักเสบในที่สุด  ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ วิงเวียนศีรษะ ปวดเบ้าตา อาเจียน และไอเป็นเลือด ปอดอักเสบจากการติดเชื้อราประเภทนี้อันตรายมาก หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้


6. โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)


         เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำดื่ม ที่มีสารปนเปื้อนของเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) โดยมีนกพิราบเป็นพาหะของโรค ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และขับถ่ายเป็นเลือด สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองได้


 7. โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)


      เกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งจะอยู่ในดินที่นกพิราบได้ถ่ายมูลทิ้งไว้ ผู้ป่วยที่ร่างกายปกติแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งอาการที่แสดงมักจะเป็นไข้ ไอ และมีอาการล้า แต่ในกรณีผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้นได้


ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากนกพิราบ


      -บุคคลที่สัมผัสมูลนกพิราบ เช่น พนักงานทำความสะอาด ผู้ที่ชื่นชอบ และเลี้ยงนกพิราบไว้ดูเล่น

      -บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่นกพิราบ บินผ่าน หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ เช่น ผู้ที่พักอาศัยอยู่ตามคอนโด


      -บุคคลที่ชอบให้อาหารนกพิราบ


      -เด็กเล็ก


     -ผู้สูงอายุ


      -ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน


      -ผู้ป่วยโรคหอบหืด


      -ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ


ป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากนกพิราบ


      -หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ หรือเข้าไปอยู่ในฝูงนกพิราบเยอะๆ รวมทั้งสัมผัสนกพิราบที่ตายแล้ว


      -มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในแวดล้อมของนกพิราบ หรือมูลของนกพิราบ ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด


      -ไม่ให้อาหารแก่นกพิราบ


      -ไล่นกพิราบออกจากที่อยู่อาศัย


      -ทำลายรังนกพิราบ พร้อมทั้งทำความสะอาด


         ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากนกพิราบ ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ มูลนกพิการ และซากนกพิราบที่ตายแล้วให้มากที่สุด

วิธีการไล่นกพิราบ


      1. ใช้แผ่นซีดี หรือถุงพลาสติกใส่น้ำแล้วแขวนไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ เมื่อนกพิราบบินมา เห็นเงาสะท้อนก็จะบินหนีไปเอง


      2. ใช้รูปปั้นนก หรือตุ๊กตารูปนก มาแขวนไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ นกพิราบจะบินหนีไปเอง


      3. ใช้ตาข่ายกั้นนกพิราบ บริเวณระเบียงคอนโด


      4. การไล่นกพิราบด้วยเสียงดังๆ เช่น การจุดประทัด การนำลำโพงไปวางไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ หรือการสั่นกระดิ่ง เป็นต้น


      5. เลี้ยงสัตว์สำหรับไล่นก เช่น เหนี่ยว หรือแมว ไว้ไล่นกพิราบ


      6. ปลูกต้นไม้ที่มีหนามแหลม เช่น กระบองเพชร ทำให้นกพิราบไม่สามารถเกาะที่บริเวณนั้นได้


      7. ใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ จะสร้างกลิ่นฉุนรบกวนแก่นกพิราบ


         นอกจากนกพิราบแล้ว สัตว์ปีกอื่นๆ ก็สามารถเป็นพาหะเชื้อโรคร้าย มาทำอันตรายแก่มนุษย์ได้ ดังนั้นหากเห็นสัตว์ปีกมีอาการผิดปกติ หรือการตายที่ผิดปกติควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ หากมีการสัมผัสนกพิราบ มูลนกพิราบ และซากนกพิราบที่ตายแล้ว เกิดมีอาการเป็นไข้  ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย เจ็บคอ ไอแห้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายในก่อนติดเชื้อในสมอง


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.petcharavejhospital.com/