ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
หลายคนรู้หรือไม่ว่า ปอดของคนเรานั้นมีอยู่ 2 ข้าง แต่จะมีจำนวนกลีบปอดไม่เท่ากัน และอย่างที่เราทราบกันว่า ปอดนั้นมีหน้าที่หลัก คือ ไว้แลกเปลี่ยนของเสียโดยการขับคาร์บอนไดออกไซด์และนำเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงทั้งร่างกาย โดยคนทั่วไปจะมีปอดทั้ง 2 ข้าง คือ ข้างซ้ายและข้างขวา โดยมีหัวใจขั้นอยู่ระหว่างทั้ง 2 ข้าง ซึ่งรู้หรือไม่ว่าปอดทั้ง 2 ข้าง มีจำนวนไม่เท่ากัน ปอดข้างขวานั้นประกอบด้วย 3 กลีบ ส่วนข้างซ้ายมีแค่ 2 กลีบเท่านั้น แต่ละกลีบนั้นจะประกอบด้วยถุงลมขนาดเล็ก ๆ ที่เรามองไม่เห็นมากกว่าหลายร้อยล้านถุง ที่คอยช่วยในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและขับของเสียจากกระแสเลือดไปสู่การหายใจออก ดังนั้น จึงขอฝากให้คนทั่วไปได้รู้จักกับ 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการผ่าตัดปอด ดังนี้
1.ทำไมผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายบางรายถึงไม่มีอาการ ทั้งนี้ เนื่องจากร่างกายของเรามีถุงลมขนาดเล็กจำนวนมากที่ค่อยช่วยเหลือในการขับของเสีย ฉะนั้น เมื่อเกิดจุดหรือเซลล์มะเร็งปอดเกิดขึ้น ในช่วงเริ่มต้นอาจมีขนาดเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปอด ซึ่งมีถุงลมจำนวนมากที่ยังคงทำหน้าที่ทดแทน ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ยกเว้นแต่ตัวเชื้อมะเร็งจะอยู่ชิดหลอดลมหรือเส้นเลือด กลุ่มนี้อาจแสดงอาการไอ หรือมีอาการไอเป็นเลือดเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อก้อนเนื้อมะเร็งเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ถุงลมภายในปอดทำงานช่วยไม่ไหว หรือมีน้ำท่วมปอด ที่ไปลดพื้นที่การทำงานของปอด เมื่อนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม
2.ถ้าหากเราผ่าตัดปอดไป เราจะยังหายใจได้หรือไม่ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่า ธรรมชาตินั้นได้สร้างปอดขึ้นมาเผื่ออยู่แล้ว โดยคนปกติที่แข็งแรงนั้น สามารถใช้ปอดหลังจากการผ่าตัดปอดได้ 1 ข้างอย่างสบาย ๆ เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดปอดนั้น ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพปอดก่อนการผ่าตัด (Pulmonary function test) โดยเราจะประเมินความจุของปอดหลังได้รับการผ่าตัดว่ามีเพียงพอต่อการหายใจหลังผ่าตัดหรือไม่ โดยค่าที่ควรได้ คือ Postoperative pulmonary Force expiratory volume in one second > 60 percent ฉะนั้น ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดปอดไม่ต้องกังวลว่าจะหายใจไม่ได้หลังการผ่าตัดเมื่อผ่านเกณฑ์การตรวจชนิดนี้
3.เมื่อไรที่พบจุดที่ปอดแล้วต้องผ่าตัด เมื่อใดก็ตามเราพบเจอจุดที่ปอดผ่านเอกซเรย์ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และเนื่องจากฟิล์มเอกซเรย์บ่งบอกรายละเอียดได้ค่อนข้างน้อย การทำ CT chest นั้นจะส่งผลทำให้เราสังเกตเห็นลักษณะก้อนได้ละเอียดขึ้น ซึ่งในบางครั้งจากจุดเล็ก ๆ จากการเอกซเรย์ จะเป็นก้อนขนาดใหญ่เมื่อทำ CT scan ในทางกลับกันบางครั้งก็อาจเป็นเพียงหลอดเลือดเล็ก ๆ ได้ ซึ่งจากการอ้างอิงในการศึกษาข้อมูลวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อนำประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงที่เป็นมะเร็งปอด (กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี ที่สูบบุหรี่มากกว่า 1 ซอง ติดต่อกันนานมากกว่า 20 ปี) ไปทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด พบว่า พบเจอจุดที่ปอดเกิดขึ้นมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามีจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ในนั้นเป็นมะเร็งปอด โดยจากคำแนะนำบอกว่า เมื่อใดที่เราพบจุดที่ปอดมากกว่า 4 มิลลิเมตร เราควรต้องตรวจต่อเนื่องเพื่อดูระยะการเติบโต และเมื่อใดที่มีขนาดมากกว่า 8 มิลลิเมตร ต้องตรวจอย่างใกล้ชิด 3 เดือน และพิจารณาเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเมื่อสงสัยเป็นมะเร็งปอด
4.การผ่าตัดปอดแบบไหนปลอดภัยที่สุด การผ่าตัดปอดในปัจจุบันสามารถดำเนินโรคได้อย่างปลอดภัย โดยมีภาวะแทรกซ้อนหนักมีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันการผ่าตัดมีทั้งหมด 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดส่องกล้อง โดยการผ่าตัดส่องกล้องสามารถทำได้เพียง 1 จุด ขนาดเพียงแค่ 3-4 เซนติเมตร โดยทำการสอดอุปกรณ์ผ่านทางช่องอุปกรณ์ผ่านทางซี่โครง โดยการผ่าตัดชนิดนี้ สามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและสามารถลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้
5.การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดปอดผ่านกล้อง นั้นมีข้อดีมากมาย เริ่มจากผู้ป่วยจะใช้เวลาในการพักฟื้นไม่เกิน 3 วัน หลังผ่าตัด และผู้ป่วยรับประทานอาหารปกติได้ และเมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะจนครบ 1 สัปดาห์ สามารถอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายได้ตามปกติ สิ่งที่ควรระวัง คือ ให้หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งถ่าย การออกแรงยกของหนัก หรือการออกกำลังกายหนัก อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และควรงดขึ้นเครื่องบินและการดำน้ำลึกเป็นเวลา 1 เดือน