ม.มหิดลเปิดทิศทางอนาคตโลกวิจัย จากโรคเขตร้อน สู่การวิจัยประยุกต์เพื่อสังคม

ปัจจุบันโลกไม่ได้ประสบปัญหาเฉพาะโรคเขตร้อน แต่ยังเผชิญกับ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” คือ การเกิดภาวะฉุกเฉินและภัยคุกคามทางสุขภาพอีกมากมายที่รอคอยการศึกษา การพัฒนาผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง


รศ.ดร.นพ. ประตาป สิงหศิวานนท์ อดีตคณบดี 3 สมัยของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ 1 ใน 46 นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงสูง Top2% ของโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ให้มุมมองของการพัฒนางานวิจัยใน 7 ปีข้างหน้า จะเป็นไปเพื่อการรองรับ “Disruptive Forces"


เดิมทีทิศทางการวิจัยของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการแก้ปัญหา “โรคเขตร้อน” ที่มีอยู่ดั้งเดิม และกำลังจะหมดไปจากโลกนี้ในอีกไม่กี่ปี นอกจากนี้ ใน 10 - 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 70 ของประชากรโลก มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น ประกอบกับมีจำนวนผู้สูงวัย และอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และภัยคุกคามทางปัญหาสุขภาพของประชากรโลกที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ


ทำให้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการวิจัยให้สามารถรองรับสังคมผู้สูงวัย “โรคเขตเมือง” รวมทั้งภัยคุกคาม หรือภาวะฉุกเฉินทางด้านสุขภาพใหม่ ๆ ที่จะเกิดกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย

โดยรูปแบบการวิจัยในอนาคต ควรเป็น “การวิจัยประยุกต์เพื่อสังคม” หรือการศึกษาวิจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ต่อการปฏิบัติงาน วิถีชีวิต และนโยบายได้ มีรูปแบบการวิจัยแบบข้ามศาสตร์และร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องมี “การพัฒนากำลังคน” ให้มีทักษะการสื่อสาร ความร่วมมือและพันธมิตร ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ critical thinking ควบคู่กับ “ทักษะทางการวิจัย” ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังคนเหล่านี้มีความพร้อม และสามารถปรับตัวและอยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ได้


ปัจจุบัน รศ.ดร.นพ. ประตาป สิงหศิวานนท์ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรคเขตร้อน และการรับมือกับภัยคุกคามทางด้านสุขภาพด้วยแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนา และขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านวิชาการ การวิจัย การแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศและโลก


รศ.ดร.นพ. ประตาป สิงหศิวานนท์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย สมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นเลขาธิการเครือข่ายภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุข องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


โดยยังคงยึดมั่นในความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธาน และพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการดูแลสุขภาวะประชาชนชาวไทย รวมทั้งการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า สู่การมีชีวิตที่ยืนยาว มั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคตของประชากรโลกด้วย