นักวิจัยพัฒนาระบบ PET Scan หาเชื้อวัณโรคในปอด

นักวิจัยในอังกฤษและสหรัฐอเมริการ่วมกันพัฒนาระบบเอกซเรย์ปล่อยโพซิตรอน เพื่อตรวจหาเชื้อไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิสในปอด และผลการศึกษาพรีคลินิกเป็นที่น่าพึงพอใจ ไม่มีผลข้างเคียง และเตรียมนำไปทดลองกับมนุษย์ในเร็วๆ นี้


ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Rosalind Franklin ของอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก และสถาบันสุขภาพแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ร่วมมือในโครงการพัฒนาวิธีตรวจหาเชื้อวัณโรคในปอด ด้วยการใช้ radiotracer ชนิดใหม่ที่เรียกว่า FDT อันเป็นสารประกอบกัมมันตภาพรังสีที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบหาเชื้อด้วยระบบสแกน Positron Emission Tomography Scan (PET) หรือ การเอกซเรย์ปล่อยโพซิตรอน โดย FDT จะถูกดูดซับโดยแบคทีเรียก่อวัณโรคที่ยังคงชีวิตในร่างกาย จากนั้นเครื่องสแกนจะตรวจจับ FDT ที่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อเป้าหมายด้วยภาพ 3 มิติ และนำมาวินิจฉัยโรค ซึ่งในการทดลองระดับ pre-clinical trials สามารถระบุและตำแหน่งของเชื้อแบคทีเรียและช่วงเวลาที่เชื้อแพร่ขยายได้ชัดเจน และไม่พบว่ามีผลข้างเคียงจากการสแกนด้วยเครื่อง PET ขณะนี้ทีมงานเตรียมจะเริ่มการทดลองกับมนุษย์ระยะที่ 1


ปัจจุบันมี 2 วิธีที่ใช้วินิจฉัยวัณโรค คือ ตรวจหาแบคทีเรียจากน้ำลายผู้ป่วย และการใช้ PET Scan แบบใช้ radiotracer ที่เรียกว่า FDG ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้กันทั่วไป แต่ทั้ง 2 วิธี ยังมีข้อจำกัดในการหาเชื้ออย่างแม่นยำ ทำให้การรักษาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น ทำให้ผู้ป่วยต้องยุติการรักษาเร็วเกินไปหรือนานเกินไป จากสถิติในปี 2022 ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรค 10.6 ล้านคน และเสียชีวิตจากเชื้อวัณโรค 1.3 ล้านคน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโควิด-19 ศาสตราจารย์ Ben Davis หัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า การหาวิธีที่แม่นยำในการระบุเวลาที่วัณโรคยังคงมีฤทธิ์อยู่ในร่างกาย ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะนานพอที่จะฆ่าเชื้อวัณโรคให้หมดจากร่างกาย

 


ข้อมูล : -https://www.medindia.net/news/the-first-pet-scan-technology-to-target-tuberculosis-216207-1.htm