ฟิลลิปปา ร็อกซ์บี
Role,ผู้สื่อข่าวสุขภาพ
19 กันยายน 2024
จากภาพแสดงให้เห็นว่าสมองเนื้อสีขาว (white matter) มีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
ซึ่งมันเป็นส่วนเชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ ของสมอง
สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการตั้งครรภ์ 9 เดือน มีอยู่จริง และมันถูกเปิดเผยอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก
จากการสแกนสมองของผู้หญิงวัย 38 ปี ที่สุขภาพดีคนหนึ่งถึง 26 ครั้ง นักวิทยาศาสตร์พบ “สิ่งที่น่าทึ่ง” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของส่วนที่เชื่อมโยงกับการเข้าสังคมและการประมวลผลทางอารมณ์ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงบางส่วนยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แม้ผ่านการคลอดบุตรไปแล้ว 2 ปี
นักวิจัยกล่าวว่า ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงจำนวนมากขึ้น เพื่อดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในสมอง และข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นจะช่วยทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาณเริ่มต้นของอาการต่าง ๆ ของผู้เป็นแม่ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และภาวะครรภ์เป็นพิษ
“มันเป็นแผนที่สมองของมนุษย์ตั้งครรภ์อย่างละเอียดอันแรก” เอมิลี ยาคอปส์ ผู้เขียนงานศึกษาและนักประสาทวิทยาจาก ม.แคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา กล่าว
“เราไม่เคยเห็นสมองในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาก่อน” เธอบอก “ในที่สุด เราก็สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของสมองได้แบบเรียลไทม์”
สมองของเอลิซาเบธ คราสติล ซึ่งตัวเธอเองเป็นนักประสาทวิทยาถูกสแกนซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างการตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพครั้งใหญ่ระหว่างการตั้งครรภ์เป็นที่รู้จักกันดี แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรในระหว่างการตั้งครรภ์และด้วยสาเหตุอันใด ยังคงน้อยอยู่
ผู้หญิงหลายคนพูดถึง “สมองในช่วงตั้งครรภ์” หรือ “สมองทารก” เพื่ออธิบายถึงความรู้สึกหลงลืม ขาดสติ หรือภาวะสมองล้า
การศึกษาก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่การสแกนสมองในช่วงก่อนและหลังการตั้งครรภ์ใหม่ ๆ แทนที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ จนกระทั่งเอลิซาเบธ คราสติล นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ประสาทชีววิทยาการเรียนรู้และความจำเออร์ไวน์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ลงมือศึกษาสมอง และตีพิมพ์งานวิจัยลงวารสาร Nature Neuroscience
ในช่วงที่กำลังมีการถกเถียงเรื่องงานวิจัย ตอนนั้นเธอกำลังวางแผนตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้วพอดี และตอนนี้ลูกชายของเธอก็อายุ 4 ขวบแล้ว
เธอบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ “เจ๋ง” มาก ในการศึกษาสมองของตนเองโดยละเอียดและเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
“แน่นอนว่ามันแปลก ๆ เมื่อเห็นสมองของตัวเองเปลี่ยนไปแบบนี้ แต่ฉันก็รู้ด้วยว่ามันต้องอาศัยนักประสาทวิทยาถึงจะเริ่มต้นงานวิจัยนี้ได้” เธอกล่าว
การศึกษาพบว่าปริมาณเนื้อสมองสีเทาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์
จากภาพ สีเข้มแสดงให้เห็นถึงบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
จากการศึกษาพบว่าพื้นที่สมองของ ดร.คราสติล เกือบ 80% นั้น ปริมาณเนื้อสมองสีเทาซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว อารมณ์ และความจำ ได้ลดลงราว 4% และฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังการตั้งครรภ์
แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ พบว่าความสมบูรณ์ของสมองเนื้อสีขาวกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนวัดสุขภาพและคุณภาพการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ของสมอง ทั้งนี้ พบว่าความสมบูรณ์ของเนื้อสมองสีขาวได้กลับสู่ระดับปกติหลังจากคลอดบุตรได้ไม่นาน
นักวิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยหนุ่มสาว (puberty) นอกจากนี้ งานศึกษาในสัตว์ที่ใช้ฟันแทะยังชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจทำให้ตัวเมียที่กำลังตั้งครรภ์มีความอ่อนไหวต่อกลิ่นต่าง ๆ มากขึ้น และมีแนวโน้มชอบดูแลเนื้อตัวร่างกาย หรือสร้างรัง
“แต่มนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น” ดร.คราสติลกล่าว
เธอไม่ได้มีประสบการณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวกับ “สมองแบบแม่ ๆ (mommy brain)” ในช่วงตั้งครรภ์ แต่แน่นอนว่าเธอรู้สึกเหนื่อยล้า และมีอารมณ์อ่อนไหวมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ขั้นตอนถัดไปคือ การรวบรวมภาพสมองโดยละเอียดจากผู้หญิงอีก 10-20 คน รวมถึงข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่ามากในห้วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อบันทึกประสบการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกัน
ด้วยวิธีการนี้ ดร.คราสติลกล่าวว่า “เราสามารถตรวจสอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจช่วยให้ทำนายสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือทำความเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ว่าอาจส่งผลต่อสมองได้อย่างไร”
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/c79n1352r73o
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของรูป : DANIELA COSSIO , ELIZABETH CHRASTIL, LAURA PRITSCHET